วันนี้ (26 ส.ค. 2562) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งที่ 40 โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี AIPA เป็นองค์กรคู่ขนานที่เติบโตเคียงข้างกับอาเซียนมาอย่างยาวนาน และช่วยเติมเต็มการทำงานของฝ่ายบริหารผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสาหลักที่ 3 คือ เสาแห่งประชาคม สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งมีประชาชนเป็นรากฐานสำคัญ
พร้อมย้ำว่าฝ่ายบริหารของอาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพา AIPA ในการส่งต่อนโยบายให้ถึงประชาชน ด้วยความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคนิติบัญญัติ นโยบายต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จ นายกรัฐมนตรีขอขอบคุณพลังขับเคลื่อนอาเซียนจากภาคนิติบัญญัติ จากสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมสนับสนุนองค์กรให้มีความก้าวหน้าในวันนี้ พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้คำแนะนำที่ดีมาโดยตลอด
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเด็นการค้ามนุษย์ อาชญากรรม หรือสิ่งแวดล้อม แต่ทราบว่า AIPA ได้ร่วมมือกันผลักดันภูมิภาคอาเซียนให้เป็นประชาคมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะความพยายามที่จะสร้างอาเซียนให้ปลอดยาเสพติดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
นายกรัฐมนตรียังชื่นชมผลการประชุมคณะมนตรีที่ปรึกษาของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วย
ยาเสพติดอันตรายครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเห็นพ้องต่อแนวทางพัฒนาทางเลือก และตกลงร่วมกันที่จะบูรณาการการพัฒนาชุมชนในทุกด้านให้มีภูมิต้านทาน และมีโครงการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหายาเสพติดย่างยั้งยืน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นอกจากนี้ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังถือเป็นเรื่องที่ทั่วโลกตื่นตัว และอาเซียนให้ความสนใจมาโดยตลอด และประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ผ่านมานั้น ได้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการริเริ่ม และจัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า AIPA จะนำปฏิญญากรุงเทพฯ เป็นกรอบในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อประโยชน์อันสูงสุดแก่ประชาชนชาวอาเซียน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปี 2562 ถือเป็นปีแห่งความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้างความยั่งยืนในอาเซียน ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิดหลักของประธานอาเซียนในปีนี้คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพราะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้เพียงลำพัง โดยจำเป็นต้องอาศัยการพึ่งพาซึ่งกันและกัน
พร้อมเชื่อมั่นว่า การทำงานร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือของ AIPA ในฐานะเป็นภาคนิติบัญญัติที่สำคัญของอาเซียน และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในฐานะที่เป็นตัวแทนจากประชาชน จะสามารถอำนวยความสะดวกทางกฎหมายที่จะช่วยให้ข้อตกลงทั้งหลายที่มีร่วมกันได้รับการลงนาม โดยสมาชิกประเทศ และผลักดันการบัญญัติกฎหมายให้เกิดความสอดคล้องประสานกันเป็นอย่างดี และเป็นกรอบแนวทางเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของอาเซียนในทุกมิติสืบต่อไป ที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง