วันนี้ ( 2 ก.ย.2562) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว เป็นอัตราเร่งให้หนี้ครัวเรือนไตรมาสแรก ของปี 2562 อยู่ที่ ร้อยละ 78.7 ของจีดีพีเพิ่มสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ของปี 2561 คิดเป็นมูลหนี้ 13 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่อันดับ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก และเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 จาก 22 ประเทศ ในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ ร้อยละ 94.8 ของจีดีพี ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคบุคคลในธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวร้อย 11.3 ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี นับจากไตรมาส 4 ของปี 2558
แต่จากการออกมาตรการกำกับเพดานปล่อยสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ (LTV) และการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อย สินเชื่อรถยนต์ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่ชะลอตัวจากร้อยละ 9.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์ ชะลอตัว จากร้อยละ 11.4 มาอยู่ ร้อยละ 10.2
ภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5
พร้อมประเมินแนวโน้ม หนี้ครัวเรือน ครึ่งปีหลัง สศช.คาดว่า ภาพรวมสินเชื่อบ้านอาจชะลอตัวลงและทั้งปีอาจไม่เกินร้อยละ 80 ของจีดีพี หากจีดีพีขยายตัวเกินร้อยละ 3 ตามเป้าหมาย แม้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ
นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช.ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงย่อมเป็นอุปสรรคค่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำอาจทำให้กลุ่มเสี่ยงก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติกำลังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ สศช. ยังรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ของปี พบว่า ภาพรวมการจ้างงานลดลงร้อยละ 0.3 โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 4 แต่อัตราว่างงานยังต่ำที่ร้อยละ 0.98และพบว่าภาพรวม คดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.6
ทั้งนึ้ ยังมีประเด็นทางสังคมที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาความเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง หลังพบยอดผู้ป่วย โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบมากในกลุ่มนักเรียนอายุ 5-14 ปี ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเดียวกับ การเจ็บป่วยจากโรคซิฟิลิสในวัยรุ่น และอาการจิตเวชรุนแรงจากกาีติดสารเสพติดเพิ่มขึ้น