วันนี้ (3 ก.ย.2562) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมการขนส่งทางราง เตรียมแนวทางที่จะช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ผู้ใช้บริการระบบขนส่งรถไฟฟ้า โดยเตรียมเสนอมาตรการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งทางราง ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยแบ่งแนวทางการลดค่าโดยสารออกเป็น 2 ส่วน คือ ลดค่าโดยสาร โดยกำหนดเพดานสูงสุดของการเดินทางนอกชั่วโมงเร่งด่วน (ออฟพีค) และการลดค่าโดยสารเฉลี่ยจากการจัดทำตั๋วเดือน
โดยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์จะลดราคา จากราคาปกติคิดตามระยะทาง 15-45 บาท ปรับมาจัดเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 25 บาทต่อคนต่อเที่ยว หรือ 25 บาทตลอดสาย คาดว่าจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
ส่วนช่วง Off-peak นั้นจะเป็นช่วงเวลา 05.30-07.00 น. ช่วงเวลา 10.00-17.00 น.และช่วงเวลา 20.00-24.00 น. รวมวันเสาร์และอาทิตย์
ทั้งนี้ การลดราคาจะทำเฉพาะกับผู้ใช้บัตรโดยสาร ไม่รวมการใช้เหรียญโดยสาร หรือการหยอดเหรียญซื้อบัตร ซึ่งการออกบัตรโดยสารครั้งแรกมีค่าใช้จ่าย 230 บาท ใช้เดินทางได้ 170 บาท หลังจากนั้นสามารถเติมเงินเข้าบัตรได้เลย อีกทั้งการลดราคานี้ไม่รวมถึงบัตรผู้สูงอายุและบัตรนักศึกษา เพราะมีโปรโมชั่นลดราคาอยู่แล้ว
ขณะที่การเชื่อมต่อตั๋วร่วม (common ticket) กับรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเรื่องการจัดการรายได้ในระบบตั๋วร่วมภาพรวมและการติดตั้งซอฟแวร์อ่านบัตร
แนวโน้มการเติบโตของผู้โดยสารของเพิ่มขึ้นมากตลอดปี คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 14 หรือเฉลี่ยวันละ 75,000 คน สูงขึ้นจากปีก่อนที่วันละ 68,000 คน โดยวันศุกร์มีคนใช้บริการมากสุดประมาณวันละ 90,000 คน ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการแก้ปัญหาความแออัดภายในขบวนรถ
ปลายปีนี้จะเปลี่ยนเบาะเป็นแบบพับ เพื่อเพิ่มพื้นที่ยืนในชั่วโมงเร่งด่วน โดยจะถอดเบาะทุกตู้ของขบวนรถไฟเป็นแบบสลับฝั่ง จะทำให้เพิ่มจำนวนผู้โดยสาร 10% เป็นการแก้ปัญหาแออัดเฉพาะหน้าก่อนจะมีการจัดซื้อรถไฟขบวนใหม่
โดยหลังจากลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูงอีอีซีกับกลุ่มซีพีแล้ว จะเร่งรัดหารือกับเอกชนถึงแผนจัดซื้อรถไฟขบวนใหม่เพื่อคลี่คลายความแออัด โดยตนเชื่อว่าเอกชนจะดำเนินการเร็วที่สุดเพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบัน ตลอดจนเพิ่มความถี่รถไฟให้มากกว่า 8.30 นาทีต่อขบวน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.เป็นคู่สัมปทานกับเอกชนในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และจ้างเอกชนเดินรถในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยยืนยันว่า การปรับลดราคา รฟม.สามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 แบบ โดยในแบบตัวนั้น รฟม.ได้จัดทำระบบซอฟต์แวร์ไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปรับลดราคาจะส่งผลกระทบทางด้านการเงินในแง่ของรายได้ แต่อัตราที่จะมีการปรับลดราคา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุมวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยหลังจากคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารขนส่งระบบราง ได้ข้อสรุปแล้วนำเสนอต่อ รมว.คมนาคมเป็นที่เรียบร้อย รฟม.จะมีการนำเสนอแนวทางการลดค่าโดยสารเข้าสู่การประชุม บอร์ด รฟม.ภายในเดือน ก.ย.นี้