ความน่ารักของ "ชบาแก้ว" ลูกช้างป่าหลงโขลง ที่ขณะนี้อยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ สบอ.10 (อุดรธานี) และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอที่พี่เลี้ยงพาชบาแก้วเดินเข้าป่า ข้ามขอนไม้ เหยียบโคลน ย่ำน้ำ หรือแม้แต่วิ่งบนถนน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนส่งกลับหาโขลงแม่ช้าง
นายทวีป คำแพงเมือง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เปิดเผยกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า ตอนนี้ "ชบาแก้ว" สุขภาพแข็งแรงดี นอนครั้งละ 3 ชั่วโมง กินนมวันละ 13 ครั้งๆ ละ 800 มิลลิลิตร โดยมีสัตวแพทย์ดูแลใกล้ชิด ชบาแก้วเป็นลูกช้างที่ไม่อยู่นิ่ง ชอบเดินไปมาในคอก บางครั้งก็วิ่งและวิ่งเร็วด้วย
แต่ละวัน ชบาแก้วจะนอน กินนม เดินไปมาในคอก ไม่อยู่นิ่ง บางทีก็เล่นกับพี่เลี้ยง
ทุกๆ วัน พี่เลี้ยงจะพาชบาแก้วออกกำลังกาย พาเดินตามเส้นทาง ลุยน้ำร่องห้วยในป่า เฉลี่ยวันละ 1.30 - 2 ชั่วโมง ระยะทางไปกลับ 3-4 กิโลเมตร แต่หากวันไหนฝนตกก็จะพาชบาแก้วเดินออกกำลังกายบริเวณใกล้กับคอก ในตอนเย็น
หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว บอกว่า การพาลูกช้างเดินเข้าป่า ต้องให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ให้เกิดการเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตในป่า เพราะความเป็นจริงลูกช้างจะต้องเดินตามแม่ช้างหรือโขลงช้างให้ทัน ไม่เช่นนั้นจะอ่อนแอ ถูกขับออกจากฝูง และตายในที่สุด เพราะฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกช้างป่าตัวนี้มีความแข็งแรงและแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องรบกวน เพราะกลัวว่าลูกช้างจะติดคนจนเกินไป
ด้าน ดร.สุชาติ โภชฌงค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานส่งชบาแก้วกลับฝูงแม่ช้าง เล่าถึงแผนการทำงานว่า หลายหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ ได้ร่วมประชุมวางแผน สำรวจโขลงแม่ช้างวันต่อวัน และติดตั้งกล้องถ่ายภาพ เพื่อดูโขลงช้างที่มีแม่ช้างเต้านมเต่งและมีลูกวัยเดียวกับชบาแก้ว เพื่อตรวจสอบพิกัด ก่อนติดตั้งคอกชั่วคราวให้ชบาแก้วอยู่รอแม่ช้างมารับ โดยต้องส่งลูกช้างกลับไปหาแม่ให้เร็วที่สุด แต่ฝนที่ตกทุกวันเป็นอุปสรรค
เมื่อมั่นใจว่าโขลงช้างดังกล่าวมีแม่ช้างอยู่ และหาจุดติดตั้งคอกได้แล้ว สัตวแพทย์จะตรวจความพร้อมของชบาแก้ว ก่อนพาเข้าไปอยู่ในคอกชั่วคราว และจะใช้ "มูลช้างสด" ของโขลงช้างเป้าหมายมาละลายน้ำราดบนตัวชบาแก้ว เพื่อให้ส่งกลิ่นเรียกโขลงช้างเข้ามาหา ขณะเดียวกันลูกช้างจะส่งเสียงร้องหาพี่เลี้ยง ซึ่งจะทำให้โขลงช้างเดินมาตามเสียง ระหว่างนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามอยู่ห่างๆ จนกระทั่งลูกช้างกลับเข้าโขลงไป
มั่นใจ 60% ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม
ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวอีกว่า การดำเนินการครั้งนี้ไม่เหมือนกับที่เคยส่ง "บุญมาก" ลูกช้างป่าตัวเมีย ที่พลัดหลงโขลงในอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร กลับสู่อ้อมอกแม่ช้างได้สำเร็จ เมื่อเดือน มี.ค.2561 เนื่องจากสภาพพื้นที่แตกต่างกัน ขณะที่การต้อนโขลงช้างให้มาเจอลูกช้างไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เป็นที่ราบ ช้างป่าอยู่กระจาย อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ แต่หากเกิดกรณีแม่ช้างไม่รับชบาแก้วกลับเข้าโขลง ก็ต้องหาทางออกกันต่อไป
เหตุการณ์วันที่ 13 มี.ค.2561 โขลงแม่ช้างมารับ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2562 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ได้รับแจ้งว่าพบ "ลูกช้างป่า" ตกอยู่ในบ่อเกรอะของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่จึงเข้าช่วยเหลือ ก่อนส่งตัวลูกช้างป่าชบาแก้วไปที่โครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บและเพื่อให้ลูกช้างได้กินนมจากแม่ช้างบุญธรรม กระทั่งมีสุขภาพแข็งแรง วิ่งเล่นและซุกซนตามประสาช้างเด็ก จึงส่งตัวกลับมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ช่วย "ลูกช้างตกท่อ" ล่าสุดแข็งแรงดี รอแม่รับกลับป่า
ส่งลูกช้างป่า "ชบาแก้ว" รักษาอาการบาดเจ็บที่สุรินทร์
"ชบาแก้ว" ลูกช้างป่าหลงโขลงกินนมแม่บุญธรรม
ย้ายลูกช้างป่า "ชบาแก้ว" กลับบึงกาฬปลอดภัย