ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครื่องดื่มความหวานจ่อปรับราคา รับต้นทุน-ภาษีใหม่

เศรษฐกิจ
9 ก.ย. 62
14:18
1,782
Logo Thai PBS
เครื่องดื่มความหวานจ่อปรับราคา รับต้นทุน-ภาษีใหม่
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป เครื่องดื่มความหวานบางรายการ จะถูกเก็บภาษี เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 5 สตางค์ - 1 บาท พร้อมปรับเกณฑ์ “ฟังก์ชันนัลดริงก์ ” ห้ามเติมวัตถุปรุงแต่ง ขณะที่ สรรพสามิต เชื่อภาระภาษีอัตราใหม่ ไม่กระทบผู้บริโภค

วันนี้ (9 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าว รายงานว่า เครื่องดื่มน้ำดำรายใหญ่ ยี่ห้อหนึ่ง เตรียมปรับขึ้นราคาขวดละ 1 - 2 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. โดยอ้างภาระภาษีเพิ่มขึ้นนั้นนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมฯ ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มให้ความหวานแบบขั้นบันได 

 

เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัม จะเก็บภาษีตามเดิม ที่ 30 สตางค์ต่อลิตร , ปริมาณน้ำตาล 10 - 14 กรัม จากเดิม 50 สตางค์ เป็น 1 บาท ,ปริมาณน้ำตาล 14 - 18 กรัม จากเดิม 1 บาท เป็น 3 บาท และปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมขึ้นไป 5 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 30 ก.ย.2564

 

แต่หากคำนวณภาระภาษีจริงตามขนาดบรรจุภัณฑ์ เครื่องดื่มน้ำดำ จะมีภาระภาษีเพียงกระป๋องละ 10-20 สตางค์ พร้อมเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตน้ำดำคู่แข่ง กลับพัฒนาสูตรความหวานแบบรสดั้งเดิม แต่สามารถลดปริมาณน้ำตาลจริงลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ภาระภาษีลดลง จากเดิม กระป๋องละ 1 บาท เหลือ 10 สตางค์ เช่นเดียวกับ ผู้ผลิตเครื่องดื่มความหวานอีกกว่า 60 - 70 ยี่ห้อ ที่ปรับสูตรลดความหวานลง เพื่อลดภาระต้นทุนภาษีจากการบังคับใช้อัตราใหม่

ขณะที่ เครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ และน้ำผักน้ำผลไม้ อาจมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น หลังกรมฯ ปรับเกณฑ์ให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ ใช้ผักและผลไม้จริงในสัดส่วนที่เหมาะสมมากขึ้น หลังพบว่า ผู้ผลิตบางราย โฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพจากผักและผลไม้ แต่กลับใช้น้ำองุ่นขาว เป็นส่วนผสมหลัก และเติมสารปรุงแต่ง เช่น คอลลาเจน เพื่อให้ปริมาณกากใยอาหาร หรือ ไฟเบอร์ เข้าเงื่อนไขได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค

มันคงไม่ยุติธรรม หากผู้ผลิตเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ยังคงใช้สารปรุงแต่ง เติมเข้าในเพื่อให้ปริมาณไฟเบอร์ ถึงเกณฑ์ได้สิทธิยกเว้นภาษีความหวาน ดังนั้น กรมฯ จึงปรับเกณฑ์ใหม่เพื่อกดดันให้ผู้ผลิตใช้ผักผลไม้จริงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่มาจากภาระภาษีความหวานไม่เกินขวดละ 15 สตางค์

ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวอีกว่า ภาษีความหวานอัตราใหม่ ที่จะบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 - 30 ก.ย.2564 ช่วยเพิ่มจัดเก็บรายได้อีก 1,500 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จัดเก็บได้จากการบังคับใช้รอบแรก 4,000 ล้านบาท โดยมีแผนจะปรับขึ้นภาษีความหวานรอบใหญ่อีกครั้ง ในช่วงวันที่ 1 ต.ค.2564 – 30 ก.ย.2566

หลังร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า คนไทยยังขาดการรับรู้เกี่ยวกับฉลากอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และยังคงบริโภคหวานเกินความต้องการของร่างกาย แต่เครื่องมือภาษีจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลลดลงเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

แต่ย้ำว่า กรมฯ ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเดิมหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีสุขภาพรายการใหม่ ในอนาคต ทั้งภาษีความเค็ม ภาษีความมัน ซึ่งได้ข้อสรุปของผลการศึกษาระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับ ภาษีเบียร์ 0% และภาษียาเส้น หลังพบว่า ยอดการบริโภคบุหรี่ และยาสูบ ไตรมาสที่ 2 ของปี ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวจึงขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายจะตัดสินใจดำเนินนโยบายภาษีดังกล่าวอย่างไร

พร้อมระบุว่า กรมฯ น่าจะจัดเก็บรายได้ทั้งปีตามเป้าหมาย 580,000 ล้านบาท และได้รับมอบหมายให้เพิ่มยอดการจัดเก็บรายได้ ในปีงบประมาณ 2563 เพิ่มขึ้นที่ 642,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง