วันนี้ (10 ก.ย.2562) การประชุมทหารประทวนอาวุโส หรือ จ่ากองทัพ ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก(SELF) ครั้งที่ 5 เป็น 1 ใน 3 เวทีคู่ขนานตามกรอบความร่วมมือกองทัพบกกลุ่มประเทศอินโด-แปซิฟิก นอกเหนือจากการประชุมระดับผู้บัญชาการทหารบก (IPACC) และการประชุมระดับฝ่ายเสนาธิการชั้นยศพันโทถึงพลตรี (IPAMS) ที่กองทัพบกไทยและสหรัฐฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อความมั่นคงที่ยั่งยืน มุมมองใหม่ของกองทัพบกภาคพื้นอินโด–แปซิฟิก
การประชุมทหารประทวนอาวุโสมี 20 ประเทศเข้าร่วม จาก 31 ประเทศ ที่ได้รับเชิญ โดยสหรัฐฯ ริเริ่มจัดการประชุมร่วมกับประเทศเจ้าภาพในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก หมุนเวียนการประชุมทุกปี และจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในปีนี้ แตกต่างจากการประชุมผู้บัญชาการทหารบกภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ซึ่งหมุนเวียนจัดทุก 2 ปี
รูปแบบการประชุมทหารประทวนอาวุโสแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ การสัมมนาแบบรวมการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้บรรยาย ซึ่งในครั้งนี้ได้เชิญ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบทบาททหารกับภารกิจรักษาสันติภาพ และสถานการณ์ความมั่นคงในโลกสมัยใหม่
ช่วงที่ 2 เป็นการสัมมนาร่วมกับนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และช่วงสุดท้ายเป็นการสัมมนากลุ่มย่อยของทหารชั้นประทวนในประเด็นการพัฒนาภาวะผู้นำ ทั้งนี้กองทัพบกมีข้อจำกัดในการคัดเลือกบุคลากรร่วมประชุมในเวทีนี้ เนื่องจากมีโครงสร้างการบังคับบัญชาแตกต่างจากสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป รวมทั้งอาเซียนบางประเทศ เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย เนื่องจากกองทัพบกไม่มีตำแหน่งจ่ากองทัพ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะมีหน้าที่บังคับบัญชาทหารชั้นประทวนทั้งหมด
ทำให้กองทัพบกต้องใช้วิธีสอบคัดเลือกทหารประทวนอาวุโสที่มีประสบการณ์และทักษะด้านภาษาอังกฤษจำนวน 2 นาย ร่วมประชุม ซึ่งถือเป็นการยกระดับทหารชั้นประทวนของไทยในเวทีการประชุมอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอินโด-แปซิฟิก โดยกองทัพบกมีแนวคิดจะส่งทหารประทวนอาวุโสเข้าร่วมการประชุมในเวทีนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีหน้ากองทัพบกฟิลิปปินส์จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับกองทัพบกสหรัฐฯ
ทั้งนี้ภูมิภาคอินโด–แปซิฟิก ประกอบไปด้วยประเทศกว่า 40 ประเทศ มีพื้นที่ครอบคลุมมากกว่ากึ่งหนึ่งของโลก มีภาษาที่ใช้สื่อสารมากกว่า 3,000 ภาษา รวมทั้งมีปัญหาความท้าทายด้านความมั่นคงที่สำคัญ เช่น การก่อการร้ายและภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ 7 ใน 10 ของกองทัพบกที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็อยู่ในภูมิภาคนี้เช่นกัน การประชุม IPACC- IPAMS - SELF จึงเป็นเวทีที่ทำให้ผู้นำกองทัพได้มีโอกาสมาพบปะ แลกเปลี่ยนทัศนคติ สร้างความไว้วางใจ แก้ไขปัญหาความท้าทาย และเสนอแนวความคิดที่เห็นพ้องต้องกันในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน