วันนี้ (10 ก.ย.2562) ช่วงหนึ่งของการเสวนา "ความท้าทายและทิศทางการตอบสนองของ ASEAN ต่อประเด็นสันติภาพ ความเท่าเทียม ความยั่งยืน และความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมประชาชนอาเซียน 2019 มีการสะท้อนความคับข้องใจต่อสถานการณ์ของภาคประชาชน ที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพและขาดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของภาครัฐ
นางอึ้ง ชุ่ย เม้ง (Shui Meng Ng) นักเคลื่อนไหวชาวสิงคโปร์ เป็นตัวแทนของครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย หรือ ถูกอุ้มหาย ซึ่งเกิดขึ้นกับสามีของเธอ คือ นายสมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมชาวลาว และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี 2548 ที่ถูกอุ้มหายเมื่อปี 2555 หรือราว 7 ปีก่อน จนถึงวันนี้ ยังไม่สามารถระบุว่าเป็นผู้เสียชีวิตหรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐานการตาย
เธอระบุว่า แม้มีภาพจากกล้องวงจรปิดที่แสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายบริเวณใกล้กับป้อมตำรวจ แต่ก็ไม่สามารถสืบสำนวนคดี หรือหาผู้รับผิดชอบต่อการสูญหายได้เช่นกัน ซึ่งเธอมองว่า เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศลาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศไทยในกรณีของ "บิลลี่" นายพอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย ที่สูญหายไปนานถึง 5 ปี ทำให้ภรรยาของเขาต้องต่อสู้เพื่อให้ได้คำตอบว่าสามีของเธอหายไปไหน พยายามติดต่อหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กระทั่งได้พบชิ้นส่วนกระดูก จึงจะสามารถยืนยันการเสียชีวิต และเข้าสู่กระบวนการสืบสวนหาผู้กระทำความผิดได้
นี่คือ อาชญากรรมอันร้ายแรง และความขี้ขลาดของผู้มีอำนาจในสังคม ที่ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะทำดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างด้วยกระบวนการยุติธรรม แต่ใช้กระบวนการนอกระบบ นอกศาล วิสามัญฆาตกรรมประชาชน ทั้ง ๆ ที่ผู้มีอำนาจควรทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัย สร้างความมั่นคงของพลเมืองตนเอง ด้วยระบบกฎหมายและหลักนิติธรรม
ด้าน Thinzar Shunlei Yi นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวเมียนมาร์ ระบุว่า ความมั่นคงและความเจริญของชาติ ต้องเริ่มจากการสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเป็นกำลังสร้างชาติต่อไป
อาเซียนมีเป้าหมายเพื่อสันติภาพ แต่ยังทำไม่มากพอสำหรับคนรุ่นเรา พื้นที่ของภาคประชาชนอยู่ตรงไหน ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่สีแดงที่อันตรายไปแล้ว ประชาชนเสี่ยงจะถูกกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยรัฐ และนี่เป็นปัญหาหนักของเรา เราไม่รู้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับนักปกป้องสิทธิในอนาคต
ส่วนนาย Jenito Santana นักเคลื่อนไหวทางสังคมจากประเทศติมอร์-เลสเต สะท้อนความกังวลกับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น การเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้สูญเสียระบบนิเวศ และพื้นที่ทำเกษตรดั้งเดิม โดยที่ผ่านมา ภาคประชาชนพยายามเสนอทางเลือกการพัฒนาที่จะยั่งยืนมากกว่า และหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ หรือมีทิศทางการพัฒนาที่เป็นไปอย่างที่ภาคประชาชนต้องการ
การพัฒนาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างเดียว ภาคประชาชน ต้องการการเกษตรยั่งยืน ต้องการอธิปไตยทางอาหาร แต่ปรากฏว่ารัฐบาลต้องการเกษตรอุตสาหกรรม และเอาเครื่องจักรกลมาใช้ในการเกษตร โดยที่เกษตรกรไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเหมือนอย่างที่รัฐบาลวางนโยบายเอาไว้
สำหรับประเด็นปัญหาด้านต่าง ๆ ที่ถูกสะท้อนผ่านตัวแทนภาคประชาสังคมจากประเทศอาเซียน ภายในมหกรรมประชาชนอาเซียน 2019 จะถูกรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารของประเทศอาเซียน ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ในวันที่ 31 ต.ค. - 4 พ.ย. 2562 ที่กรุงเทพมหานคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประชาชนอาเซียนผิดหวัง พม.จัดเวทีแยก เหตุไม่ส่งชื่อผู้เข้าร่วมให้รัฐ
กสม.แจงเดือด "ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์" ปมละเมิดสิทธิมนุษยชน