วันนี้ (13 ก.ย.2562) ร.ท.บรรพชัย พุฑฒิบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาโครงสร้างระบบภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงกรณีพบการการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐผิดวัตถุประสงค์ว่า ตามที่มีการแชร์ภาพในโซเชียลมีเดียมีการนำเงินที่ได้รับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตนั้น มาตรการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการช่วยค่าครองชีพ 500 บาทมีวัตถุประ สงค์หลักเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยกระทรวงการคลัง ได้นำเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) เพื่อสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นผ่านเครื่องรับชำระอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องอีดีซี และแอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ และสามารถถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็ม อีกช่องทางหนึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและอิสระให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำเงินไปใช้จ่ายบรรเทาปัญหาค่าครองชีพตามความจำเป็น
การกระทำตามที่มีการแชร์ภาพในโซเชียล เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่มีพฤติกรรม หากมีการจำกัดสิทธิ ไม่ให้มีการถอนเงินสดได้อาจเกิดผลกระทบกับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐส่วนใหญ่ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินสดบรรเทาภาระการใช้จ่าย
จ่อปรับเกณฑ์นำข้อมูลคนในครอบครัวมาคัดกรอง
สำหรับการวิจารณ์เรื่องระบบคัดกรองบกพร่อง ร.ท.บรรพชัย กล่าวว่า ยืนยันว่ากระทรวงการคลังมีเกณฑ์คัดกรองผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยตรวจสอบเกณฑ์รายได้ ทรัพย์สินทางการเงิน และที่อยู่อาศัยของผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นการคัดกรองข้อมูลรายบุคคลเฉพาะผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิเท่านั้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการกำหนดเกณฑ์การลงทะเบียนของผู้มีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการ
แห่งรัฐรอบใหม่ ซึ่งจะปรับปรุงเกณฑ์คัดกรองเพิ่มเติม โดยนำข้อมูลของบุคคลในครอบครัวมาร่วมพิจารณา อีกทั้งจะทบทวนผลการดำเนินมาตรการที่ผ่านมาทั้งหมด เพื่อนำมากำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้มีบัตรในอนาคตต่อไป
สำหรับตัวเลขผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน โดยให้กดเงินสดคนละ 500 บาทผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ในช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดปัญหาเงินหมดตู้ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบมีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐแห่กดเงิน 500 บาทเกลี้ยงตู้กรุงไทย
5 วันแห่กดเงินกรุงไทย 9.5 ล้านครั้ง
"คลัง" ตรวจสอบกินหัวคิวกดเงินสด ผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ