วันนี้ (14 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีรายงานว่าเสือโคร่งของกลางที่ยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี มาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี ตายแล้วอย่างน้อย 50 ตัว โดยมีรายงานว่าตายจากที่อาการโรคหัดสุนัขในกลุ่มเสือ และบางส่วนมีอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง พบว่าส่วนหนึ่งมาจากภาวะความเครียดของเสือ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ
แหล่งข่าว ระบุว่า พบอาการของโรคหัดสุนัข และอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียงในเสือโคร่งของกลาง มาตั้งแต่แรกรับมาดูแลที่เขาประทับช้าง ในช่วงเดือน มิ.ย.2559 ซึ่งแม้จะมีการจัดการสุขภาพเสือและดูแลสุขอนามัย มาเรื่อยๆ แต่พบว่ากลุ่มเสือโคร่งที่ตายส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย ที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ในครอบครัวเดียวกันจนเลือดชิดที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน
ถือเป็นโรคที่มักพบในกลุ่มเสือ และกลุ่มแมว ซึ่งหลังจากเริ่มทยอยตายเริ่มตายตัวแรก 11 พ.ค.2559 ก็ยังเริ่มตายเรื่อยมาจนถึงปีนี้ โดยได้สรุปข้อใูลให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช รับทราบข้อมูลแล้ว ส่วนซากเสือของกลางได้จัดการซาก บางส่วนมีการแช่ฟอร์มาลีน และฝังตามหลักวิชาการ
ข้อมูลยืนยันว่าเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัวฯ ที่ยึดไว้โดยกรมอุทยาน มีจำนวน 147 ตัวเมื่อช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.2559 ซึ่งถูกแบ่งออกไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 85 ตัว แต่ตายไปแล้ว 54 ตัว ส่วนเสือโคร่งอีก 62 ตัวส่งไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ตายแล้ว 32 ตัว
ถังที่ใส่ซากเสือตายที่เขาสน จ.ราชบุรี
ชี้เสือเครียด-เลือดชิด ต้นเหตุป่วย
ขณะที่แหล่งข่าวอีกคนหนึ่ง ระบุว่า หากเสือของกลางไม่ได้ตายโดยกะทันหัน หรือตายจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ หรือผู้รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์จะรายงานเหตุ แจ้งความ และเก็บรักษาซากเพื่อการตรวจสอบ พร้อมยกตัวอย่างกรณีเสือดาวที่คนเลี้ยงไว้ที่บ้านพัก ลักษณะเหมือนสัตว์เลี้ยง เมื่อถูกยึดมาไว้ในกรงก็จะเกิดความเครียด ตัวแข็ง จนกระทั่งเจ้าของเสือต้องขอมานอนในกรงด้วยหลายเดือน กว่าจะหายเครียด ซึ่งเสือเลี้ยงจะสูญเสียสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่าแล้ว แม้การเลี้ยงดู การให้อาหาร กรง คอก จะเป็นไปตามมาตรฐาน ก็อาจจะเกิดความเครียดได้
สิ่งแวดล้อม อาหาร ผู้ดูแล ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหมด แม้จะดูแลตามมาตรฐาน ก็อาจเกิดความเครียดและตายได้
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เคยลงพื้นที่เมื่อเดือน ต.ค.2561 เพื่อติดตามความเป็นอยู่สัตว์ป่าของกลางในคดีค้าสัตว์ป่า ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี มีสัตว์ป่าทั้งหมด 64 ชนิด 597 ตัว โดยจำนวนนี้มีเสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย 85 ตัว ที่ยึดจากวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน
โดยขณะนั้น นายบรรพต ระบุว่า เสือโคร่ง บางส่วนได้รับการผ่าตัดรักษาอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากความเครียด จนทำให้สุขภาพอ่อนแอ ลักษณะเดียวกับคนที่เป็นไข้ หรือโรคภูมิแพ้ เมื่อลิ้นกล่องเสียงบวม เสือจะหายใจไม่สะดวกและเสี่ยงตายได้ สัตวแพทย์และสัตวบาลจึงต้องดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิด พร้อมสังเกตพฤติกรรมการเดิน การกิน การนอน หากพบความผิดปกติจะเข้ารักษาทันที
เสือมีความเครียดตลอดช่วง 6 เดือนแรกที่ถูกย้าย กัดกรงเหล็กขาดจนต้องซ่อมทุกวัน ถ้าถูกกระตุ้นมากความเครียดเขาก็สูง ส่งผลต่อสุขภาพ
สำหรับเสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน ถูกตรวจสอบ และยึดเป็นของกลาง โดยกรมป่าไม้ ตั้งแต่ 12 มิ.ย. 2544 เนื่องจากวัดครอบครองเสือโคร่ง สัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กรมป่าไม้มอบหมายให้สัตวแพทย์สมชัย วิเศษมงคลชัย เป็นผู้ดูแลเสือของกลางและฝากไว้เลี้ยงไว้ที่วัดนี้
จากเดิมที่มีพ่อแม่เสือของกลางเพียง 7 ตัว ผ่านมาเกือบ 15 ปีจำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นเป็น 148 ตัวในท่ามกลางการร้องเรียนจากชาวต่างชาติ เรื่องการทรมานเสือด้วยการล่ามโซ่ การเลี้ยงดูเสือที่ไม่ดี ตลอดจนความปลอดภัย และยังถูกระบุเป็นแหล่งลักลอบค้าเสือ จนรัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามจากไซเตสต่อมาในเดือนพ.ค.-มิ.ย.2559 กรมอุทยานฯใช้กฎหมายบังคับย้ายเสือโคร่งมาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และเขาสน จ.ราชบุรี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้อนเส้นทางเสือโคร่งของกลาง 147 ตัว
“กรมอุทยาน” ให้ทีมมหิดลพิสูจน์เสือป่วยตายโรคหัดสุนัข