วันนี้ (14 ก.ย.2562) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงได้พัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า Kuiburi’s Elephant Smart Early Warning System ร่วมกลุ่มทรู และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย พัฒนาการทำงานของระบบเตือนภัยช้างป่า ด้วยการติดตั้ง Camera Trap พร้อม SIM และ SD Card บริเวณด่านที่ช้างออก 25 ด่านนำร่องที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายวราวุธ กล่าวว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคน กับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้น้อมนำอัญเชิญพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ว่า “ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า” มาใช้เป็นหลักในการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลให้ปัญหาได้คลี่คลายระดับหนึ่ง
เปิดระบบเตือนภัยช้างทำงานเร็ว-ผ่านมือถือ
จากนั้นกรมอุทยานฯ และกลุ่มทรู ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือตามโครงการเฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ในพื้นที่อุทยานฯ กุยบุรี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2560 ซึ่งการใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Smart Early Warning System) ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนแบบทันทีทันใด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ โดยถือเป็นพื้นที่นำร่องแก้ปัญหาคนกับช้างป่า
นายธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรู กล่าวว่า การทำงานของระบบ Elephant Smart Early Warning System จะติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ พร้อมซิมและเอสดีการ์ด บริเวณด่านที่ช้างออก 25 ด่าน เมื่อช้างหรือวัตถุใดเคลื่อนผ่าน กล้องจะบันทึกและส่งภาพไปยังระบบ Cloud โดยเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการจะทำการตรวจสอบและส่งภาพเข้ามือถือผ่านอีเมล์ของเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งเตือนให้ดำเนินการผลักดันช้างเข้าป่า
เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการผลักดันช้างจะได้รับแจ้งการผลักดันช้างผ่านแอปพลิเคชัน Smart Adventure หลังจากผลักดันช้างสำเร็จ จะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น พิกัดด่านที่ช้างออก จำนวนช้าง เวลา ความเสียหาย โดยระบบ Cloud จะประมวลผล เพื่อใช้วิเคราะห์และแก้ปัญหาต่อไป
ระบบเตือนภัยช้างลดความเสียหายพื้นที่เกษตร
ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวว่า การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ บริเวณพื้นที่ป่าก่อนถึงพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน จำนวน 25 จุด เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลผ่านศูนย์ฯ และให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการผลักดันช้างกลับเข้าป่าได้ทันท่วงที ก่อนที่ช้างป่าจะออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของเสียหาย
ช่วง 10 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.2561 ถึงปัจจุบัน พบว่ากล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ บันทึกภาพช้างป่าได้ 518 ครั้ง รวม 1,826 ภาพ พื้นที่ที่พบช้างป่าบางแห่งเกิดความเสียหายต่อพืชผลการเกษตร 27 ครั้งเท่านั้น
ชาวบ้านขอทำรั้วป้องกันช้าง
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจากข้อมูลเชิงสถิติในพื้นที่เฝ้าระวังช้างป่า ก่อนมีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่เดือน พ.ย.2560-ส.ค.2561 พบว่าช้างป่าได้ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน 628 ครั้ง พบความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร จำนวน 217 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการทำงานร่วมกันระหว่างกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการผลักดันช้างป่า จึงทำให้อัตราความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรลดลงอย่างมาก
สำหรับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีเนื้อที่ 605,625 ไร่ หรือ 969 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร และเป็นแหล่งที่พบสัตว์ป่าจำนวนมาก รวมถึงช้างป่าและเสือโคร่ง ที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคและระดับโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ นายวราวุธ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน มีตัวแทนชาวบ้านคนหนึ่งได้เข้ามาหา รมว.ทส.และเล่าถึงผลกระทบจากช้างป่าที่ลงมากินพืชไร่พืชสวนให้กับนายวราวุธ ได้รับทราบ พร้อมขอให้พิจารณางบประมาณในการจัดสร้างรั้วกันช้าง เพราะสำหรับชาวบ้านแล้วการมีรั้วเป็นวิธีป้องกันช้างป่าที่ดีที่สุด ซึ่ง รมว.ทส.ตอบรับว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่