วันนี้ (18 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้าในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม แหล่งบงกช ซึ่งเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เตรียมยื่นแผนประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมการรื้อถอนโครงการต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมต้นปี 2563 ซึ่งกรมเชื้่อเพลิงธรรมชาติยืนยันว่า การพิจารณาวิธีการรื้อถอน จะต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกช แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข 15, 16 และ 17 ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ร่วมกับบริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ เป็นผู้ที่ได้รับสัปทานในการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมแปลงดังกล่าวและจะสิ้นสุดระยะเวลาสัปทานในปี 2565-2566 ซึ่งจะต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม
นายสมบูรณ์ วัชระชัยสุรพล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการบงกช ของผู้มีส่วนได้เสียเสร็จสิ้นไปแล้วในภาคใต้ และกำลังเปิดรับฟังความเห็นในส่วนของภาคกลาง โดยผู้รับสัมปทานจะต้องยื่นแผนงานรื้อถอน รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน
รวมถึงการพิจารณาวิธีการรื้อถอนที่เหมาะสมที่สุด และประมาณการค่าใช้จ่าย ปริมาณสำรองปิโตรเลียม เพื่อให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เห็นชอบเป็นไปตามกฎหมาย และกฎกระทรวงว่าด้วยการรื้อถอน หลังสิ้นสุดสัปทาน โดยวิธีการรื้อถอนจะต้องคำนึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
น.ส.กาญจนา ลังกาพินธุ์ หัวหน้ากลุ่มความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมการรื้อถอน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า ขณะนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน หรือ DEA ให้คณะกรรมการปิโตรเลียมเห็นชอบ
โดยวิธีการรื้อถอนจะเป็นไปตามหลักสากลเช่นเดียวกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จะมี 2 วิธี คือ การรื้อถอนแท่นส่วนบนเพื่อนำไปจัดการบนฝั่ง และส่วนล่างนำไปทำปะการังเทียม ซึ่งกรมฯ จะต้องพิจารณาด้านเทคนิค ความเป็นไปได้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการนำไปทำปะการังเทียม จะต้องผ่านความเห็นชอบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง ทหารเรือ กรมเจ้าท่า ต้องได้รับการอนุญาตจาก 4 หน่วยงาน จึงจะนำแท่นไปวางปะการังเทียมได้
แต่หากจะนำไปจัดการบนฝั่ง เช่น การนำแท่นสร้างโรงแรมกลางทะเล ก็จะต้องมีการควบคุมเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้กระทบชุมชนโดยรอบ ซึ่งคาดว่า ปตท.สผ จะสามารถยื่นแผนงานรื้อถอนและรายงาน DEA ภายในต้นปี 2563 จากนั้นคณะกรรมการปิโตรเลียมจะใช้เวลาพิจารณา 180 วัน จากนั้นจะใช้เวลาเตรียมการรื้อถอน 1-2 ปี
จากการศึกษาของ ปตท.สผ. พบว่า สิ่งติดตั้งในแหล่งบงกช 58 แท่น ยังสามารถนำไปใช้งานตามระบบแบ่งปันผลผลิตได้อีก 20 ปี แม้จะยังไม่ได้สรุปว่าจะต้องรื้อถอนกี่แท่น และวางหลักทรัพย์ค้ำประกันการรื้อถอนอย่างไร แต่ปตท.สผ.จำเป็นต้องทำรายงาน DEA ตามกฎกระทรวง
และจากข้อมูลของกรมฯ ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนต่อหลุมผลิตอยู่ที่ 3-5 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันหากจะต้องรื้อถอนแท่นใน 20 ปีข้างหน้าก็อาจมาทบทวนผลการศึกษา DEA ใหม่ได้
ส่วนแหล่งเอราวัณมีแท่นผลิตที่แหล่งเอราวัณมีอยู่กว่า 200 แท่น จะดำเนินการเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากผู้ชนะประมูลใหม่ เป็นรายใหม่ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการใหม่ในการพิจารณว่าสิ่งติดตั้งใดที่ต้องส่งคืนให้รัฐบาล