ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค้นหาเสน่ห์ประวัติศาสตร์ผ่าน "วังหน้านฤมิต" ดิจิทัล

ไลฟ์สไตล์
21 ก.ย. 62
13:00
2,449
Logo Thai PBS
ค้นหาเสน่ห์ประวัติศาสตร์ผ่าน "วังหน้านฤมิต" ดิจิทัล
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ "คุณใหม่" ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน กับเป้าหมายนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัลผ่าน Google Arts & Culture กับการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านบทบาทนักอักษรศาสตร์ฯ กรมศิลปากร
เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเข้าถึงคน แต่ต้องทิ้งเรื่องราวบางอย่างไว้ให้คนอยากมาหาคำตอบด้วยตัวเอง

แนวคิดการนำเทคโนโลยีมาใช้เล่าเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ที่อาจเป็นเรื่องยากในมุมมองใหม่ให้ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้นของ "คุณใหม่" ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในฐานะผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี กรมศิลปากร 

ไม่บ่อยครั้งนักที่คนเราจะมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศในวัง แต่วันนี้ทุกคนสามารถมองเห็นและได้ยินเรื่องราวของ “วังหน้า” ในหลายมิติ ผ่านนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัลผ่าน Google Arts & Culture เพียงปลายนิ้วสัมผัส


“วังหน้า” หรือพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งมี 2 ความหมาย คือ ที่ประทับของบุคคลที่มีสถานะรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ และผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกว่า พระมหาอุปราช ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตำแหน่งวังหน้านี้ปรากฏครั้งแรก ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ในช่วง พ.ศ.2028 ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เต็มไปด้วยความซับซ้อนของเงื่อนเวลา ที่แม้แต่คนเรียนประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่เด็กก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องราวที่น่าค้นหาเหล่านี้จึงกลายเป็นความท้าทายของ “คุณใหม่” ที่ไม่ได้โตในเมืองไทย

ประวัติศาสตร์ไทย ส่วนใหญ่เป็นหนังสือวิชาการ บางทีอ่านไป พูดตามตรงว่าตาลาย ซึ่งข้อมูลที่ได้จริงๆ มาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยน จึงอยากสื่อสารประวัติศาสตร์ด้วยวิธีที่ทำให้คนเข้าใจง่าย แม้จะไม่ใช่คนไทยหรือไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ไทยก็เข้าใจได้

ดึงเทคโนโลยีหนุนนิทรรศการ "แค่มอง-ได้ยิน" ก็รู้สึกได้

ส่วนตัวแทบไม่มีพื้นฐานประวัติศาสตร์ในพื้นที่นี้มาก่อน ตอนแรกรู้เพียงว่าวังหน้าเคยเป็นท้องพระโรง แต่พื้นที่ตรงนี้มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน เพราะไม่ได้มีประวัติศาสตร์เพียงยุคเดียว เพราะจริงๆ สถานที่ตรงนี้มีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีวัด มีคน มีเรื่องราว จึงต้องการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีระนาบเดียว แต่สามารถเล่นและสนุก ด้วยการเลือกเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มีหลายมิติ อย่างภาพห้องก็ให้สามารถมองเห็นได้ทุกมุมมอง ซึ่งมีผลต่อความรูสึกของคนที่เข้ามาดูมาก


นอกจากนี้ ยังต้องการจะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้ทุกคนเข้าใจโดยไม่ใช่แค่การอ่านเพียงอย่างเดียว แต่มีการเลือกใช้สี จัดแสง โดยเน้นใช้แสงธรรมชาติ เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนจากเช้าจรดเย็น เวลาที่เปลี่ยนไป ทำให้ห้องนั้นมีมิติมากขึ้น

เลือกใช้เสียงดนตรีเข้ามาร่วมในงานนิทรรศการโดยให้เข้ากับแอคโค่ของห้องจัดแสดง เพื่อให้คนที่เข้ามาเห็น ไม่ใช่แค่ได้เห็น แต่ได้รู้สึก รายละเอียดเหล่านี้จะทำให้คนเข้าใจงานแบบลึกซึ้งโดยไม่ต้องอ่าน

ภาพที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการดิจิทัล ก็เป็นภาพจากกล้องฟิล์ม หลายคนก็ถามทำไมคุณใหม่ชอบใช้กล้อง เพราะรู้สึกว่า ภาพที่ถ่ายจากกล้องฟิล์ม ไม่จำเป็นต้องพูดอะไร ไม่จำเป็นต้องอ่านอะไร เพียงแค่มองภาพถ่ายก็สามารถที่จะเข้าใจ และเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจได้ทันที ซึ่งใช้ความพิเศษของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผสมผสานทุกรายละเอียดเหล่านี้ให้เหมือนกับนิทรรศการจริงมากที่สุด

เป้าหมายหลักของนักอักษรศาสตร์ฯ กรมศิลปากร

ด้วยการทำงานของคุณใหม่ ในฐานะนักอักษรศาสตร์ฯ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร อีกหนึ่งเป้าหมายหลักในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองใหม่ๆ เพื่อต้องการกระตุ้นให้คนสนใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย และหันมาทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรม

ตอนนี้ทรัพยากรคนไม่เพียงพอ เราพยายามหาวิธีให้ประวัติศาสตร์เข้าถึงคน ให้คนรู้ว่าประวัติศาสตร์เป็นงานที่สนุก ไม่ใช่แค่ศึกษาแล้วเขียนหนังสือ แต่มีอีกหลายอย่างที่ทำได้เพื่อให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตและเดินหน้าได้

การเลือกแพลตฟอร์มให้คนเข้าถึงได้ โดยใช้เทคโนโลยี เป็นเทคนิคที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างเยาวชนตั้งแต่เด็กมัธยมฯ จนถึงคนวัย 30 ปี เพื่อกระตุ้นให้คนคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิต เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่เข้าถึงยาก และที่สำคัญ คือ ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ค้นหาได้ไม่สิ้นสุด


คุณใหม่ เปิดเผยว่า จิตรกรรมฝาผนังเป็นสิ่งที่ชื่นชอบมากที่สุดเวลาลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ แม้จะมีโอกาสได้เข้าพื้นที่ทุกวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยเห็นตั้งแต่เด็กๆ แต่กลับมองข้ามประวัติของพื้นที่ตรงนี้ เมื่อก่อนนี้วังหน้าแห่งนี้เป็นวังที่ยิ่งใหญ่และสร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง แต่ทำไมถึงหลงลืมไป ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของวังหน้าที่รอให้คนได้ค้นหา

ขนาดเข้ามาไม่รู้กี่รอบ แต่เรื่องราวประวัติศาสตร์ก็ยังมีให้ค้นหาเพิ่มอยู่ตลอดเวลา บางทีดึงคนมาร่วมทำงานที่วังหน้า เขาก็มองในมุมมองที่เรามองข้ามไป มันสะท้อนว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่ตายไป แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองของทุกคนที่จะค้นหาเรื่องราวด้วยตัวเอง


การเริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์ความรู้ที่อาจจะมีแค่ 20% ทำให้เข้าใจว่าการทำงานด้านนี้มันเป็นระนาบเดียว แต่พอได้เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาคุยกับคน คุยกับศิลปิน นักประวัติศาสตร์ สถาปนิก ซึ่งทำให้เห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ละคนกลับมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน เพราะที่สิ่งที่แต่ละคนสนใจไม่เหมือนกัน จนการเรียนรู้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่สนุกจริงๆ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่เรื่องที่มีอยู่แต่ในหนังสือ แต่สามารถที่จะเรียนผ่านดนตรี จึงมีการชวนวงดนตรี “สวนพลู” เข้าไปร้อง เพื่อประกอบในนิทรรศการให้มีมิติมากยิ่งขึ้น อย่างชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาไทย ถ้าเขาได้ฟังดนตรีก็จะเข้าถึงประวัติศาสตร์ได้โดยไม่ต้องท่องจำ

บางคนบอกว่า คุณใหม่เล่าสนุก แต่ตอนอ่านมันน่าเบื่อ เพราะตอนนี้เราเรียนแบบท่องจำ แต่จริงๆ เราควรเอาตัวเองเข้าไปสัมผัส ประวัติศาสตร์ หากเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยวิธีหลากหลายจะช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงประวัติศาสตร์ และทำให้ประวัติศาสตร์กลับมาชีวิตได้


ทั้งนี้ ทุกคนสามารถสัมผัสประวัติศาสตร์ในหลากมิติเพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจได้มากขึ้น ผ่านนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัล ที่แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน รวบรวมผลงานสร้างสรรค์จำนวน 138 รายการ พร้อมด้วยภาพ Street View สำหรับการสำรวจ “วังหน้า” ในมุมมองต่างๆ จำนวน 4 ภาพ โดยมีไฮไลต์ที่น่าสนใจ ดังนี้

  • จิตรกรรมฝาผนังที่มีความซับซ้อน : สร้างสรรค์โดยนักพฤกษศาสตร์ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติภายในกรอบภาพเดียวกัน

  •  ตำราพิชัยสงคราม : ให้ความรู้เกี่ยวกับพระนามของพระมหากษัตริย์และขนบการตั้งพระนาม



  • นิทรรศการผัสสะแห่งสิ่งที่จับต้องไม่ได้ของ "อินซิทู" : การสัมผัสนิทรรศการเคล้าเสียงเพลง จากผลงานเพลง Ghosts of Wang Na ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงร็อก อพาร์ตเมนต์คุณป้า และ Marmosets นักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ โดยดัดแปลงเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สอดร้อยกับเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทยอย่างระนาดเข้ากับกลองและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์

  • การแสดงขับร้องประสานเสียง : โดยคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูแบบ 360 องศา ซึ่งเป็นการแสดงที่ได้รับการปรับแต่งสำหรับการแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยโดยเฉพาะ 

โดยผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัล ได้บนเว็บไซต์ Google Arts & Culture หรือแอปพลิเคชัน Google Arts & Culture ทั้งบนระบบ iOS และ Android

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง