วันนี้ (30 ก.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหมืองแร่ทองคำวังสะพุง จ.เลย แม้จะปิดดำเนินการไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2557 และมีสถานะล้มละลาย แต่กลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ ในนาม "กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด" เรียกร้องให้รัฐมีความชัดเจนต่อแผนงานจัดการสินแร่ ที่ยังอยู่ภายในตัวเหมืองทอง รวมถึงสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน โดยวันนี้ เวลา 13.30 น. ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านจะหารือร่วมกับ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ที่ศาลากลางจังหวัดเลย เพื่อหาทางออกร่วมกัน รวมถึงข้อเสนอแผนการฟื้นฟูสภาพพื้นที่โดยรอบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่
ไทยพีบีเอส ใช้โดรนบินดูสภาพมุมสูงในพื้นที่ชุมชน ยังคงเห็นได้ชัดเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ ที่ยังทิ้งร้างไว้เมื่อช่วงมีการประกอบกิจการ ซึ่งเป็นพื้นที่รวม 6 แปลง มีขนาดพื้นที่เกือบ 1,300 ไร่ เป็นเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ ใน อ.วังสะพุง จ.เลย โดยสภาพพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ยังคงมีชุมชนปรากฎอยู่ล้อมรอบ
น.ส.รจนา กองเสน
น.ส.รจนา กองเสน ชาว อ.วังสะพุง จ.เลย แต่ปัญหาจากการประกอบกิจการที่มีผลกระทบต่อปัญหาสารโลหะหนัก ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดกับชุมชน จนนำไปสู่การฟ้องร้อง และศาลจังหวัดเลย มีคำพิพากษาเมื่ปี 2561 ให้บริษัทเหมืองแร่ทองคำฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน รวมถึงพื้นทีภายในตัวเหมืองทอง และการจ่ายชดเชยชาวบ้านจำนวน 149 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัญหาเหล่านี้ ยังไม่นำไปสู่การแก้ไข เนื่องจากบริษัทอยู่ในสถานะล้มละลาย และทำให้ไม่มีใครเข้ามาจัดการพื้นที่ ตามที่ชาวบ้านเสนอ
นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์
นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มคนรักบ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ระบุว่า ขณะนี้ ยังมีความชัดเจนเกีย่วกับสินแร่ที่อยู่ในตัวเหมืองทอง จำนวน 109 ถุง ซึ่งทางกลุ่มชาวบ้านต้องการความชัดเจนเช่นกันว่า ภาครัฐจะรับผิดชอบและจัดการอย่างไร เพราะที่ผ่านมาพบรถยนต์ปริศนาเข้าออกพื้นที่ โดยชาวบ้านไม่รู้ว่าเข้าไปทำอะไร และขนอะไรออกมาบ้างหรือไม่ และเกรงว่าจะเกิดการลักลอบขนสินแร่ จนทำให้กลุ่มชาวบ้านต้องตัั้งด่านเฝ้าระวัง บริเวณเส้นทางเข้าออกหมู่บ้านกับตัวเหมืองแร่ทองคำอยู่ในปัจจุบัน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม
ไทยพีบีเอส สอบถามกับนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ระบุว่า ขณะนี้ ให้เป็นไปตามคำสั่งศาล และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ประกอบการ ห้ามยุ่งเกี่ยวหรือขนย้ายใดๆ ออกจากตัวเหมือง หากมีใครละเมิดให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ตามกฎหมาย ซึ่งการประชุมร่วมกันตามที่ชาวบ้านรองขอ ทราบว่า มีการเสนอแผนงานฟื้นฟูที่มาจากกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งเห็นด้วยว่าการฟื้นฟูจะต้องฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์เหมืองแร่ทองคำ ที่ จ.เลย ขณะนี้ แม้ว่าใช้พื้นที่ไปแล้วเกือบ 1,300 ไร่ หรือประมาณ 6 แปลง แต่ยังคงมีคำขอสำรวจแร่เดิมที่ค้างอยู่อีกกว่า 100 กว่าแปลง และทำให้กลุ่มชาวบ้านประเมินและกังวลว่า บริษัทใหม่ที่สนใจในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ จะเข้ามาดำเนินการ เนื่องจากมีอุปกรณ์และสถานที่พร้อมทำเหมืองอยู่ในพื้นที่มาก่อนแล้ว จึงเป็นหนึ่งในข้อกังวลที่เกิดขึ้น
และวันที่ 4 ต.ค.นี้ กลุ่มชาวบ้าน จะร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทั่วประเทศ เข้ากรุงเทพมหานครเพื่อสะท้อนปัญหาร่วมกันกับมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ ที่เป็นเครือข่ายติดตามประเด็นผลกระทบด้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย มานับสิบปี