ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มาตรการรองรับ การแบน “สารเคมีเกษตร”

สิ่งแวดล้อม
8 ต.ค. 62
20:41
1,947
Logo Thai PBS
มาตรการรองรับ การแบน “สารเคมีเกษตร”
รอลุ้นมติ "คณะกรรมการวัตถุอันตราย" หลัง กรรมการ 4 ฝ่าย ยกระดับวัตถุอันตราย 3 สาร "ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า และห้ามมีไว้ครอบครอง" ด้าน รมต.เจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องขานรับแบนสารเคมี "ส่องมาตรการ" สินค้าอันตรายอื่น ๆ เทียบเคียงใช้แก้ปัญหา

ร่นระยะเวลาเข้ามาอีก 1 เดือน กับการประกาศเดินหน้ายกเลิกสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ที่ตอนนี้ ไม่เพียงแต่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องกำกับเสียงข้าราชการประจำที่เข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเท่านั้น แต่ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะต้องทำควบคู่กันไปพร้อมกัน เพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกร ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเกษตรแบบยั่งยืนตามนโยบายที่วางไว้

ฝ่ายการเมืองประสานเสียงค้านสารเคมี

หากเป็นไปตามข้อสรุปของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เท่ากับว่าเส้นตายในการยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด จะขยับมาเร็วขึ้นอีกหนึ่งเดือน เป็นภายในวันที่ 1 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ แต่เส้นเวลาที่สั้นลง ทำให้แรงกดดันทั้งหมดจะตกไปที่ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณา ซึ่งก็ไม่ได้แยกขาดออกจากพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ว่าจะสามารถกำกับข้าราชการประจำในแต่ละกระทรวงที่ถูกแต่งตั้งเป็นกรรมการวัตถุอันตราย ไม่ให้โหวตสวนทางกับนโยบายได้หรือไม่

ที่ผ่านมา จึงเห็นปรากฏการณ์ที่หลายพรรคการเมืองออกมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณะในการสนับสนุน ตั้งแต่ “พรรคภูมิใจไทย” ที่เดินเรื่องนี้อย่างเต็มสูบ เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นต้นสังกัดถึง 2 กระทรวงในคณะกรรมการวัตถุอันตราย คือ กระทรวงพาณิชย์  และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เปิดแถลงข่าวสนับสนุนการยกเลิกใช้สารเคมีเกษตร พร้อมส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยตั้งเป้าส่งเสริมขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 25 หรือ 1 ล้านไร่ต่อปี

ส่วนเจ้า กระทรวงอุตสาหกรรม จาก พรรคพลังประชารัฐ ก็ส่งเสียงผ่านข้าราชการระดับสูงว่า สนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมยืนยัน จะให้ลงมติอย่างเปิดเผย ขณะที่ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีรัฐมนตรีดูแล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ หลังเครือข่ายภาคประชาชนเข้าพบ

ด้าน 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน แม้ไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร แต่ก็แสดงท่าทีสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด มาตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และยังร่วมกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขับเคลื่อนเรื่องนี้ผ่าน “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม” ที่กำลังรวบรวมข้อมูลปัญหาของสาร 3 ชนิด ข้อมูลสารเคมีเกษตรในภาพรวม และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอินทรีย์ของไทย

การทำงานเรื่องยกเลิกสารเคมีเกษตรของฝ่ายการเมือง ทั้ง ส.ส. รัฐมนตรี และพรรคการเมืองในสภาฯ ช่วงเวลานี้ ได้รับการชื่นชมจากหลายฝ่ายว่า เป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันของฝ่ายการเมืองที่คำนึงถึงสุขภาพ และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และทำให้สังคมไทยมีความหวังกับการแก้ปมปัญหาที่ยาก ๆ ร่วมกัน

อะไรที่รัฐบาล "ยังไม่ได้ทำ" หรือ "ทำน้อยเกินไป"

หากเปรียบเทียบกับมาตรการจัดการสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างบุหรี่ ที่หลายประเทศนำไปใช้แล้วได้ผล ที่เรียกว่า M-POWER (Monitor / Protect / Offer / Warn / Enforce / Raise taxes) รัฐบาลคงต้องกำหนดนโยบายและมาตรการเสริม เพื่อจัดการปัญหาสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด


กลไกกำกับติดตาม - Monitor

เริ่มต้นด้วยการวางกลไกกำกับติดตาม การนำเข้า การกระจายสินค้า และการใช้ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสารเคมีต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นแล้วว่า แต่ละกระทรวงแม้มีกลไกทำงานเรื่องนี้ แต่ก็แยกส่วนกันและไม่มีความต่อเนื่อง การพัฒนากลไกกำกับในเชิงนโยบาย และแก้ปัญหาตามบริบทพื้นที่ โดยทำงานอยู่บนฐานข้อมูลกลางที่ทุกหน่วยเข้าถึงได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นทันที

การประกาศพื้นที่ป้องกันผลกระทบ – Protect People

การประกาศพื้นที่ปลอดการใช้สารเคมีเกษตร ซึ่งเดิม นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยเสนอให้ใช้พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ.2551 เป็นกลไกในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีเกษตร แต่ก็ไม่มีการสานต่อในระดับนโยบายต่อมา

ล่าสุด มีเพียงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ระบุให้ดำเนินการในเรื่องนี้ไว้เฉพาะ 3 สารที่เป็นประเด็นปัญหาใน 3 พื้นที่หลัก ๆ คือ พื้นที่ปลูกผักและสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่า เพียงแค่ 3 พื้นที่นี้ จะเพียงพอต่อการปกป้องสุขภาพของประชาชนหรือไม่ และจะกำกับติดตามให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

การช่วยเหลือ – Offer

อีกมาตรการที่สำคัญและมีการเรียกร้องมาตลอดคือ การพัฒนากลไกช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการเลิกใช้สารเคมี ตัวอย่างชัดเจนที่เพิ่งเกิดขึ้นที่ ตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกผักรองรับตลาดภายในจังหวัดและต่างจังหวัด ที่ผ่านมาพื้นที่นี้มีการใช้สารเคมีการเกษตร มากถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ แต่ก็มีเกษตรกรหลายรายที่ต้องการเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ แต่กลไกรัฐในพื้นที่ก็ยังไม่สามารถรองรับได้

การจะเดินหน้าตามมาตรการนี้ รัฐบาลคงต้องออกแบบกลไกการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจเพื่อสังคมในพื้นที่ เพราะการเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์ ต้องใช้เวลาและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ การพื้นฟูบำรุงดิน จัดการแหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์ การดูแล ตลอดจนเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้เดิม และสนับสนุนทุนใหม่ที่เหมาะสม

การเตือนภัย - Warn และแบนการโฆษณา - enforce ban

การเตือนให้ตระหนักถึงพิษภัยสารเคมีเกษตร มาตรการนี้มีการผลักดันให้บังคับใช้กับฉลากคำเตือนในสารทั้ง 3 ชนิดแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมสารเคมีเกษตรตัวอื่น และยังไม่มีการห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขายในรูปแบบใหม่ ๆ

การขึ้นภาษี-Raise Tax

เรื่องสุดท้ายที่ต้องวัดใจรัฐบาลแต่เป็นมาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกใช้แล้วได้ผล คือ การใช้มาตรการทางภาษี เพราะการนำเข้าและส่งออกสารเคมีเกษตรของไทย ยังมีการยกเว้นภาษี เนื่องจากมีการนิยามว่า สารเคมีเกษตรไม่ใช่สินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในหลายประเทศมีวิธีการในการจัดเก็บภาษีสารเคมีเกษตรในหลายรูปแบบ เช่น เก็บจากผู้นำเข้าและผู้จำหน่าย รวมถึงการนำเงินภาษีที่เก็บได้ไปจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เยียวยาสุขภาพ หรือสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้มาตรการทางภาษีมาลดราคาสินค้าและนวัตกรรม ที่ใช้ทดแทนสารเคมีเกษตร เพื่อส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นได้

ดังนั้น นอกจากจับตาว่าในเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 2 เดือนนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมพิจารณา จะยกเลิกสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดหรือไม่แล้วนั้น เราอาจต้องติดตามทวงถามสิ่งที่รัฐบาลต้องทำและไม่อาจเพิกเฉยได้ คือ การกำหนดนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้การจัดการปัญหาสารเคมีเกษตร และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอินทรีย์เป็นจริงและยั่งยืน

 

ทีมข่าววาระทางสังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส.ว.แถลงสนับสนุนแบนสารเคมีเกษตรฯ รับการประชุม 4 ฝ่าย

กมธ.สารเคมีฯ มีมติแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ทันที

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง