วันนี้ (9 ต.ค.2562) นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ชี้แจงว่า หลังจากที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้ออกคำสั่งสมควรเดินอากาศ (Airworthiness Directive) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบเครื่องบินแบบ Boeing 737-600, -700, -700C, -800, -900, and - 900ER เนื่องจากพบว่า มีข้อมูลการพบรอยร้าว (crack) บริเวณด้านซ้ายและขวาของโครงสร้างลำตัวที่เชื่อมต่อระหว่างปีกของเครื่องบินแบบดังกล่าวนั้น คำสั่ง FAA ดังกล่าวกำหนดให้มีการตรวจสอบเครื่ิองบินที่มีอายุการใช้งานตามเงื่อนไขดังนี้
1. เครื่องบินที่มีอายุการใช้งาน Flight Cycle ( 1 FC หมายถึง รอบการบินขึ้น-ลง 1 ครั้ง) มากกว่า 30,000 รอบ จะต้องได้รับการตรวจสอบภายในวันที่ 10 ต.ค.62
2. เครื่องบินที่มีอายุการใช้งาน Flight Cycle (FC) ตั้งแต่ 22,600 - 29,999 รอบ จะต้องได้รับการตรวจสอบภายใน 1,000 รอบ หลังจากวันที่มีคำสั่ง (3 ต.ค.62)
กพท.ได้ตรวจสอบข้อมูลกับสายการบินของไทยที่ใช้เครื่องบินแบบดังกล่าว พบว่า
1. สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ มีเครื่องบิน Boeing 737 อยู่ทั้งหมด 30 ลำ แบ่งเป็นแบบ Boeing 737-900ER จำนวน 19 ลำและ Boeing 737-800 จำนวน 11 ลำ โดยมีเครื่องบินที่มี Flight Cycle (FC) มากที่สุดอยู่ที่ 15,949 รอบ เป็นอากาศยานแบบ Boeing 737-900ER ดังนั้น อากาศยานทุกลำของบริษัทต้องคงทำการบินต่อไปได้โดยยังไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ เพราะยังไม่เข้าตามเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อข้างต้น
2. สายการบินนกแอร์มีเครื่องบินแบบ Boing 737 อยู่ทั้งหมด 14 ลำ เป็นเครื่องบินแบบ Boeing 737-800 โดยมีเครื่องบินที่เข้าเงื่อนไขต้องทำการตรวจสอบภายในวันที่ 10 ต.ค.2562 จำนวน 1 ลำ คือ อากาศยานเครื่องหมายสัญชาติทะเบียน HS-DBO (30,565 FC) ส่วน 13 ลำที่เหลือจะต้องทำการตรวจสอบเมื่อเข้าตามเงื่อนไขข้อ 2 คือ เมื่อมีอายุการใช้งานเกิน 22,600 รอบ
ทั้งนี้ กพท.ได้ประสานกับสายการบินนกแอร์ ให้ดำเนินการตรวจสอบที่เครื่องบินลำดังกล่าวภายในวันที่ 10 ต.ค.2562 แล้ว
ด้านนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า สายการบินนกแอร์ มีฝูงบินทั้งหมด 22 ลำ มีเครื่องบินตระกูล Boeing 737-800 ในฝูงจำนวน 14 ลำ และ Q400 จำนวน 8 ลำ โดยมีเครื่องบินเพียง 1 ลำเท่านั้น ที่มีจำนวนไฟล์ทบินมากกว่า 3 หมื่นเที่ยวบิน โดยทางสายการบินนกแอร์จะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าตรวจสอบตามข้อกำหนดของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) และ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT)