เมื่อวานนี้ (9 ต.ค.2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นายสรยุทธ ชาสมบัติ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และนายชยชัย แสงอินทร์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงข่าวการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างชาติผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (1 ปี) โดยมี นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมงาน
ผู้สูงอายุต่างชาติขอพำนักไทยไม่เกิน 1 ปี 80,950 คน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องมีการคุ้มครองสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 อนุมัติหลักการให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างชาติผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ1 ปี) ให้มีการซื้อประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตนเองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร มีผลบังคับใช้และพร้อมเปิดระบบรองรับการทำประกันสุขภาพในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 นำร่องในกลุ่มชาวต่างชาติผู้สูงอายุทุกคนที่เข้ามาพำนักระยะยาวในราชอาณาจักร ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจประสบปัญหาสุขภาพให้ได้รับการคุ้มครองและดูแลตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักรไทย ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการกงสุล พ.ศ.2562 มีผู้มาขอรับการตรวจลงตราประเภทนี้ 80,950 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ซื้อกรมธรรม์ทั้งในและต่างประเทศผ่านเว็บไซต์
สำหรับการซื้อกรมธรรม์สามารถซื้อได้ทั้งในและต่างประเทศ แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.longstay.tgia.org จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท กรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพของบริษัทต่างประเทศ จะต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่าการทำประกันสุขภาพของไทยตามที่กำหนดไว้ ขณะนี้มีบริษัทประกันสุขภาพภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ 14 บริษัท โดยมอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำเว็บไซต์กลางหรือแอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ เป็นจุดบริการข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลอาทิ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติในการตรวจลงตรา รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ วิธีการทำประกันช่องทางการทำประกันสุขภาพ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง