ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนะสังเกต 5 สัญญาณเตือนเสี่ยงคิดสั้น ผ่านข้อความบนโซเชียล

สังคม
10 ต.ค. 62
09:28
1,722
Logo Thai PBS
แนะสังเกต 5 สัญญาณเตือนเสี่ยงคิดสั้น ผ่านข้อความบนโซเชียล
กรมสุขภาพจิต แนะคนใกล้ชิดสังเกต 5 สัญญาณเตือนเสี่ยงคิดสั้นผ่านข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ หากพบข้อความเชิงสั่งเสีย รู้สึกผิด หรือรู้สึกเป็นภาระผู้อื่น ควรชวนพูดคุย ให้กำลังใจและแนะนำช่องทางให้คำปรึกษา

วันนี้ (10 ต.ค.2562) โดยวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดธีมในปี 2019 นี้ คือ Working Together to Prevent Suicide เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในทุกภาคส่วน  โดยปัจจุบันประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 4,000 คนต่อปี และในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน 

ขณะที่ เฟซบุ๊ก สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต แนะนำวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยทั่วไป ขอให้คอยสังเกตสัญญาณเตือนคนรอบข้าง หากพบว่ามีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ มีความคิดอยากตาย หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง เพียงแค่เรารับฟังกันและกันอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน ให้ได้พูดคุยระบายความรู้สึกคลายความทุกข์ในใจ จะทำให้เกิดกำลังใจ ความสบายใจ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะการรับฟังนั้นเป็นพลังที่ดีที่สุด

5 สัญญาณเตือนเสี่ยงคิดสั้น 

  1. การโพสต์ข้อความสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน
  2. โพสต์ข้อความพูดถึงความตาย หรือไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว
  3. โพสต์ข้อความว่า ตนเองรู้สึกผิด รู้สึกตนเองล้มเหลว หมดหวังในชีวิต
  4. โพสต์ข้อความพูดถึงความเจ็บปวด
  5. โพสต์ข้อความว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น

การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ดังนั้นเมื่อเห็นสัญญาณเตือนเหล่านั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ

  1. แสดงความเต็มใจช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ
  2. ยอมรับว่า สิ่งที่โพสต์นั้นเป็นปัญหาของเขาจริงๆ
  3. ให้กำลังใจ สร้างความหวัง ให้เห็นว่า ปัญหาสามารถแก้ไขและผ่านไปได้
  4. พิมพ์ข้อความให้คำปรึกษา ปลอบใจให้มีสติค่อยๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา
  5. ชักชวนให้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอก อย่าให้อยู่ลำพังคนเดียว
  6. ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ให้บอกญาติเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
  7. แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา
  8. ติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่เท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข เตรียมสนับสนุนการรับฟังที่ดีและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน โดยดำเนินงานพัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อเพิ่มจำนวนคู่สายมากขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 10 คู่สาย เป็น 20 คู่สายในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มทำการพัฒนาทั้งบุคลากรและระบบทันที เพื่อรองรับการให้บริการที่มีความต้องการมากขึ้นในอนาคต ตลอดจนช่วยให้ประชาชนได้รับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่มีคุณภาพและรวดเร็ว จะส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขมากยิ่งขึ้นต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง