วันนี้ (16 ต.ค.2562) ตัวแทนสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินทางไปศาลปกครองกลางเพื่อดำเนินการฟ้องคดีกรณีนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร (อธิบดีกรมการปกครอง) ใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นกรรมการสมาคมฯ และฟ้องร้องดำเนินคดี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยวินิจฉัยอุทธรณ์ของสมาคมฯ ล่าช้าเกินกำหนดระยะเวลา ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 82 วรรคท้ายกำหนด
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า นายเนติวิทย์ เป็นสมาชิกสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 เมื่อมีการเปิดรับสมัครกรรมการสมาคมฯ แทนตำแหน่งที่ว่างลงเมื่อปี 2561 นายเนติวิทย์ได้สมัครเข้าเป็นกรรมการสมาคม ประเภทเยาวชน จากการตรวจสอบพบว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นกรรมการสมาคมตามข้อบังคับของสมาคมแต่อย่างใด และได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2561
อ้างพฤติการณ์ไม่เหมาะสม เหตุขัดคุณสมบัติ
หลังจากนั้นทางสมาคมฯ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนกรรมการต่อนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร แต่ได้รับแจ้งว่าไม่อาจรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการของสมาคมขึ้นใหม่ทั้งชุดได้ เนื่องจากนายเนติวิทย์ มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมหรือขัดต่อคุณสมบัติการเป็นกรรมการ เมื่อมีการอุทธรณ์ไปนายทะเบียนสมาคมจึงรับจดทะเบียนกรรมการ 3 คน ยกเว้นนายเนติวิทย์
ทางสมาคมฯ จึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้รับคำชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมว่า นายเนติวิทย์ ถูกดำเนินคดีอาญา ในข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 จำนวน 4 คดี ดังนั้นจึงพิจารณาเห็นว่า พฤติการณ์ของนายเนติวิทย์ อาจขัดกับการบริหารกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมที่ดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นแนวทางที่เป็นตัวอย่างให้กับบุคคลและเยาวชนทั่วไป เป็นพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม หรือขัดต่อคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ
ชี้คำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากการพิจารณาของคณะกรรมการสมาคมฯ เห็นว่า นายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร (อธิบดีกรมการปกครอง) ใช้ดุลพินิจและอำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสองที่ระบุว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” สำหรับข้อหาคดีอาญาจำนวน 4 คดีเรื่องฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 นั้น ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว จำนวน 2 คดี และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้คดีอาญาที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาต่อนายเนติวิทย์ไม่อาจดำเนินคดีได้อีกต่อไป และศาลไม่อาจพิพากษาและลงโทษให้นายเนติวิทย์ มีความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวได้อีก ดังนั้นการที่นายทะเบียนสมาคมฯ หยิบยกเหตุผลว่า นายเนติวิทย์ ถูกดำเนินคดีอาญาดังกล่าวเป็นเหตุให้ไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมฯ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจและออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังขัดต่อวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย