วันนี้ (17 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตั้งแต่ช่วงบ่ายที่ผ่านมา ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าการอภิปรายจะจบลงในเวลา 24.00 น. ก่อนเริ่มขึ้นอีกครั้งวันพรุ่งนี้ (18 ต.ค.) เวลา 09.00 น.
การอภิปรายงบฯ 63 วันแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังยิ้มออก แม้จะถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามเรื่องงบ 3.2 ล้านล้านบาท และการเทงบให้กับกระทรวงกลาโหม ขณะที่บรรดาส.ส.จากฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล ต่างมีสีหน้ายิิ้มแย้มทักทายกัน
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ ตั้งแต่ช่วงบ่ายที่ผ่านมา เวลา 14.45 น. นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ระบุว่า เอกสารงบประมาณว่าด้วยรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง มีรายงานอยู่ 1 หน้า ซึ่งคิดบวกมากเกินไป ทำให้การวางแผนนโยบายเป็นโทษ เพราะรายรับที่ประเมินไว้อาจทำไม่ได้ และอาจไม่ได้ประโยชน์ สุ่มเสี่ยงกับปัญหาประชาชน
ภาพรวมเศรษฐกิจจากสถาบันต่างประเทศ ประเมิน GDP ของไทยไว้ที่ 2.9% ไม่ใช่ 3% การค้าติดลบ การส่งออกและนำเข้าติดลบ ซึ่งหมายความว่าปีหน้าเรามีความเสี่ยงสูงมาก
การลงทุนหดตัวลง 5% ความไม่สงบของตะวันออกกลาง เบร็กซิท ภาพรวมทั้งโลกตอนนี้ไม่แน่นอน ปีหน้าอาจหนักกว่าปีนี้ รัฐบาลทุกประเทศส่งสัญญาณให้ประชาชนประหยัด
เกียรติ สิทธีอมร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
ปัญหาประชาชนรายได้หดหาย ของแพง หนี้เพิ่ม อัตราการว่างงานเพิ่ม ดอกเบี้ยเงินกู้สูงและรายได้ครัวเรือนลดลงใน 16 จังหวัดจากการลงพื้นที่ รัฐบาลมีนโยบายอะไรมาช่วยคนเหล่านี้ แต่จะใช้นโยบายเดียวกับคนทั้งประเทศไม่ได้แล้ว
นายเกียรติ ยังเสนอปรับงบประมาณใหม่ในขั้นกรรมาธิการ ให้เห็นผลมากโดยใช้เงินน้อย และต้องผลักเอกชนให้ช่วยพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน และสุดท้ายทำเพื่อคนรุ่นต่อไป ไม่ใช่รัฐบาลรุ่นต่อไป
หนุนงบฯ ปี 63
ก่อนหน้านั้น นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ผมชอบใจ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้มาก เพราะเศรษฐกิจที่ซบเซาขณะนี้มาจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ขณะที่ในประเทศประสบภัยแล้ง ดังนั้นการจัดงบฯ แบบขาดดุลถึง 4.69 แสนล้านบาทจึงจำเป็นมาก
มาตรการชิมช้อปใช้ เพื่อกระตุ้นค่าใช้จ่ายในต่างจังหวัดเยอะมาก มีคนแซวว่าเป็นนโยบายสิ้นคิด ไม่ใช่ แต่เป็นนโยบายสมคิด
วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
นายวีระกร ระบุว่า หากรัฐบาลมีงบกลางกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็จะดี แต่อยากให้เน้นเสริมระบบสาธารณูปโภค เพื่อจะได้ช่วยเหลือประชาชน อย่างถนนพาราซอยซีเมนต์ที่ทำจากน้ำยางพารา แล้วให้มี 1 อบต. 1 กิโลเมตร แบบนี้จะช่วยดึงราคาน้ำยางได้ อีกเรื่องคือ รถไฟรางคู่ ที่นายกฯ ได้ทำอยู่แล้ว
เรารอกันมานาน แต่อยากให้ทำโบกี้รถไฟใหม่ เพราะรางเพิ่มขึ้น ความเร็วเพิ่มขึ้น แต่โบกี้ยังไม่ทันสมัย อยากแนะนำให้ลองทำโบกี้รถไฟแบบจีน
นายวีระกร ยังระบุว่าฝากไปถึงกระทรวงใหม่คือ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ปีนี้รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนเพิ่ม ซึ่งสวนทางกับจำนวนประชากรของไทย ปี 60 มีเด็กเกิด 700,000 คนเท่านั้น สุดท้ายอยากขอบคุณนายกฯ ที่จัดงบได้เยี่ยมมาก สำหรับผมและพรรคพลังประชารัฐอย่างไรก็ผ่านให้ท่านอยู่แล้ว
งบฯ ท้องถิ่น เหมือนโดนโกง 3 เด้ง
15.02 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า 5 โจทย์หลักประเทศคือ วิกฤตเศรษฐกิจฐานราก, รัฐราชการรวมศูนย์ ไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน, ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, ขีดความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์, รัฐใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่าไม่ตอบโจทย์
น.ส.ศิริกัญญา ได้ยกเหตุผล 8 ข้อที่ไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ คือ 1.ไม่แก้วิกฤตเศรษฐกิจฐานราก แม้ GDP โตขึ้น แต่ส่วนแบ่งที่คนในประเทศได้รับกลับหดเล็กลง เช่น รายได้ครัวเรือน รายได้ภาคเกษตร รายได้แรงงาน โครงการใหญๆ โอท็อบ นวัตวิถี ไม่ตอบโจทย์
รัฐบาลยังขาดแคลนการลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น เพิ่มโรงกำจัดขยะที่ได้มาตรฐาน, เพิ่มรถเมล์ เพราะขณะนี้มีแต่การลงทุนขนาดใหญ่ เช่น มาบตาพุด แหลมฉบัง
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่
ขณะที่รัฐราชการรวมศูนย์ สู่การกระจายอำนาจถอยหลัง ยกตัวอย่างงบประมาณท้องถิ่น เหมือนกับโดนโกง 3 เด้ง คือ การโอนรายได้ท้องถิ่นต้องอยู่ที่ 35% ของรายได้สุทธิ แต่ขณะนี้อยู่ที่ 30%
งบประมาณผ่านที่ท้องถิ่นไม่มีอำนาจคิด เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ นมโรงเรียน ค่าตอบแทน อสม. รวม 1.3 แสนล้านบาท, การประมาณการรายได้ อปท.ไม่ถึง 22% จาก 30% ตกเกณฑ์ขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ขั้นตอนกระจายอำนาจ
รัฐบาล คสช.ที่ผ่านมา งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ไม่จัดตรงไปที่ อปท. แต่พักไว้ที่ผู้ว่าฯ ซึ่งเติบโต 1.5 เท่า สะท้อนความไม่จริงใจในการกระจายอำนาจ เพราะดึงงบฯ กลับมาที่ส่วนภูมิภาค
ขณะที่ การใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ปี 2558-2562 อัตตราการเบิกจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 60% พบว่า ทบ.เบิกจ่ายต่ำสุด 42%, สำนักปลัด สธ.เบิกงบฯ ลงทุนสร้าง รพ.-เครื่องมือแพทย์เพียง 55%, สพฐ. 56% ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานนี้กลับได้งบฯ ลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2563
ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.8 แสนล้านบาท เงินส่วนใหญ่ใช้สร้างถนนและใช้หนี้ ธกส. แต่กลับไม่เพิ่มการขนส่งสาธารณะ
เสนอนำงบฯ 1.5 แสนล้านบาท ช่วย SME
15.50 น. นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.พรรคพลังปวงชนไทย ระบุว่า ธุรกิจรากหญ้า SME กำลังโคม่า จากการอ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พบว่าบางกระทรวงได้งบฯ มากเกินความจำเป็น เช่น งบกลาง 5 แสนล้านบาท มากกว่าทุกรัฐบาลที่เคยมีมาในประเทศไทย พร้อมเสนอให้นำงบฯ ไปช่วยธุรกิจรากหญ้า 1.5 แสนล้านบาท
นิคม บุญวิเศษ ส.ส.พรรคพลังปวงชนไทย
อยากให้จัดสรรงบประมาณหมู่บ้านละ 3 ล้านบาท ใช้งบฯ รวม 2 แสนกว่าล้านบาท ในประเทศไทยมีกว่า 70,000 หมู่บ้าน หากสร้างธุรกิจใหม่หมู่บ้านละ 2 ธุรกิจ เกิดการสร้างงานเป็นล้านคนใน 1.5 แสนธุรกิจ ลดความกระจุกตัวและความเหลื่อมล้ำ
อยากให้ความสำคัญงบประมาณการท่องเที่ยว เพื่อดึงคนเข้ามา เพราะไม่ต้องลงทุนมาก โดยลดการซื้อรถถัง-เรือดำน้ำ เพื่อให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง" แต่การจัดงบฯ แบบนี้ ประเทศชาติไม่มั่นคง แต่นายพลมั่งคั่ง
รัฐบาลทำงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ
16.17 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ดีใจที่รัฐบาลตั้งใจจะทำให้งบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นเครื่องมือหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากจัดทำงบฯ แบบซึมๆ เศร้าๆ ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาความเดือนร้อนให้ประชาชนอย่างแท้จริง
รัฐบาลทำถูกแล้วที่เพิ่มงบประมาณ 2 แสนล้านบาท สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักลงทุน
รัฐบาลนำเสนองบประมาณตามยุทธศาสตร์ อันดับ 1 สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 7.6 แสนล้านบาท เพื่อจัดสรรงบฯ สู่เศรษฐกิจฐานราก และหลักประกันของประชาชน เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
รัฐบาลให้ความสำคัญของสังคมสงเคราะห์ เป็นลำดับต้นๆ ส่วนการลงทุน EEC จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนรัฐเอกชน สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ขณะที่ชิมช้อบใช้ เป็นโครงการที่ดี ส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ยืนยันว่าผู้ใช้สิทธิส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐกิจขาลงสวนทาง 5 ตระกูลรวยพุ่ง 1 ล้านล้านบาท
เปิดข้อบังคับสภาฯ ให้อำนาจสั่งหยุด ส.ส.อภิปรายนอกประเด็น
"นายกรัฐมนตรี" ชี้แจงความจำเป็นของบฯ 3.2 ล้านล้านบาท