ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปลุกการศึกษา ด้วยเรื่องเล่าจากสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

สังคม
21 ต.ค. 62
18:29
1,274
Logo Thai PBS
ปลุกการศึกษา ด้วยเรื่องเล่าจากสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
การอภิปรายงบประมาณประจำปี 2563 ประเด็นการศึกษาถูกให้ความสำคัญและหยิบยกมาหลายกรณี ทั้ง งบอุดหนุนเด็กยากจน ปฐมวัย โรงเรียนขนาดเล็ก ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา นักการเมืองหลายคนมองว่า การติดอาวุธทางการศึกษา คือ การสร้างคน สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ

หลังเข้ารับรางวัลพระราชทาน รางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2019 เครือข่ายครูจาก 11 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองทางการศึกษา ผ่านการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 (The 2nd Princess Maha Chakri Award Forum 2019) โดยมีปาฐกถาพิเศษ จากบุคคลสำคัญทางการศึกษาในอาเซียน ดังนี้

เมื่อเด็กสิ้นหวัง ความหวังของเขาถูกฉีกขาด ครูต้องนำความหวังที่ถูกฉีกมาสร้างใหม่ได้ ก็จะทำให้ สิ่งที่ทำไม่ได้ กลายเป็น สิ่งที่ทำได้ สำคัญคือ ครูต้องคืนความหวังให้เขา

ชวน-ลิม เยน ชิง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ดูแลสถาบันพัฒนาครูของประเทศสิงคโปร์ เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2006 สิงคโปร์ใช้ระบบการสอบที่เข้มงวดมาก เด็กมัธยมคนไหนสอบไม่ผ่าน 2 ครั้ง จะไม่มีสิทธิเรียนต่อที่นั่น ครูต้องค้นหาวิธีการสอนเพื่อช่วยเด็ก ๆ เหล่านั้น

มีเด็กผู้ชายคนหนึ่ง อยากเป็น “กราฟิกดีไซเนอร์” ครูก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเห็นแววเขาด้านศิลปะ แต่พอผลสอบมัธยมประกาศ เขาสอบไม่ผ่าน ความฝันที่เคยมีสลายไปทันที เด็กคนนี้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียน North Light ที่มีสีประจำโรงเรียนเป็น สีฟ้าหม่น

หลายคนเปรียบว่า สีฟ้าแบบนี้ดูสิ้นหวัง แต่ สำหรับเธอ “ยิ่งฟ้าสีมืดหม่นมากเท่าไหร่ ดาวก็จะยิ่งเห็นชัด และเจิดจรัสมากขึ้น”

จุดเปลี่ยนตรงนี้สำคัญมาก เมื่อเด็กสิ้นหวัง ความหวังของเขาถูกฉีก ถ้าครูเอาความหวังที่ถูกฉีกขาดมาสร้างใหม่ได้ ก็จะทำให้ สิ่งที่ทำไม่ได้ กลายเป็น สิ่งที่ทำได้ สำคัญ คือ “ครูต้องคืนความหวังให้เขา” ทำไมเราต้องดูแลเด็ก ๆ แบบนี้ ? ถ้าเราไม่มีคำตอบ เราก็จะเป็นเหมือน เครื่องจักรที่ไร้เป้าหมาย เพราะในการทำงานไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพครู หรือไม่ วิสัยทัศน์ส่วนตัว กับ วิสัยทัศน์ขององค์กร จะต้องรวมกันเป็นหนึ่ง อย่างโรงเรียน North Light ที่ใส่ใจกับเด็กแต่ละคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กพิเศษ ครูต้องสร้างแรงบันดาลใจ หรือ พยายามทำให้เด็กทุกคนบรรลุความเป็นตัวตนของเขา

"ฉันเชื่อว่า ครูทุกคนมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ..."

 

การศึกษาของเด็กนั้น เหมือนการสร้างโบสถ์ หรือ ตึก จะต้องมีตั้งแต่พื้นฐานที่แข็งแกร่ง ถ้าฐานไม่ดีก็ไม่สามารถสร้างอะไรที่สวยงามได้อีก เราไม่สามารถข้ามขั้นได้เลย การศึกษาก็เช่นกัน

วาน มิเกล ลูซ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ เริ่มด้วยการตั้งคำถามกับการให้ความสำคัญกับ “โรงเรียน” มากกว่า “ตัวเด็ก” และการลืมตอบคำถามว่า เด็กจะได้อะไรจากการการเรียนรู้ ที่หลักสูตร เนื้อหา และอุปกรณ์การสอนที่ครูทำ

เขาบอกว่า พัฒนาการของเด็กปฐมวัย เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ เพราะการเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปีแรก ตั้งแต่เด็กเล็กยังไม่ไปโรงเรียน พวกเขาเรียนรู้จากพ่อแม่ ส่วนโรงเรียน คือ โครงสร้างที่จะส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้น


รายงานธนาคารโลก ทำให้เห็นปัญหาการขาดแคลนการเรียนรู้ในช่วงแรกของชีวิต ที่ส่งผลต่อวิกฤตของการเรียนรู้ คือ หากเด็กไม่รู้หนังสือ คิดเลขไม่ได้มากพอ ยิ่งโตขึ้น ก็จะยิ่งมีปัญหา ถ้ามีเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้น การเรียนรู้ของพวกเขาก็ยิ่งแย่ลง

“การศึกษาของเด็กนั้น เหมือนการสร้างโบสถ์ หรือ ตึก จะต้องมีตั้งแต่พื้นฐานที่แข็งแกร่ง ถ้าฐานไม่ดีก็ไม่สามารถสร้างอะไรที่สวยงามได้อีก เราไม่สามารถข้ามขั้นได้เลย การศึกษาก็เช่นกัน” แล้วเราเตรียมอย่างไร เราต้องการพัฒนาให้เด็กเรียน เป็นผู้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของเขาเอง


อดีตรัฐมนตรี ทิ้งท้ายด้วยข้อเขียนของ เบนจามิน แฟรงคลิน ว่า

“บอกฉัน ฉันก็จะลืม สอนฉัน ฉันจะจำ แต่ถ้าให้ฉันได้ทำ ฉันจะเรียนรู้”

“Tell me and I forget, Teach me and I remember, Involve me and I learn.”

-Benjamin Franklin-

 

ยุคการศึกษาที่ไร้พรมแดน เพียงแค่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียว ก็จัดการศึกษาที่เหมาะสมได้ จึงต้องส่งเสริมผู้เรียน ให้คุ้นเคยกับการเรียนผ่านเทคโนโลยีจากครูผู้ชำนาญที่สุดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าครูคนนั้นจะอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้

กาโต๊ะ ปริโอวิจันโต ผู้ประสานงาน ศูนย์ภูมิภาคซีมีโอ อินโดนีเซีย ระบุว่า 11 ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรรวมทั้งหมดราว 630 ล้านคน แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล คือ การสร้างครูที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ และบทเรียนร่วมกันในภูมิภาค ทำให้ ครูทุกคน เป็นที่พึ่งทางการศึกษาของคน 630 ล้านคนให้ได้ และเป็นที่พึ่งในสิ่งที่เทคโนโลยีให้ไม่ได้

“ในบางสาขาวิชา เทคโนโลยีได้ก้าวไปถึงจุดที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีกว่ามนุษย์แล้ว แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นยังไม่อาจปลูกฝังทัศนคติ สอนเด็กให้มีภูมิ สังเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร หรือการทำงานเป็นทีม อันเป็นทักษะจำเป็นในการทำงานของศตวรรษนี้”

เขายกตัวอย่าง การทำงานในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีเกาะมากกว่า 17,000 เกาะ มีโรงเรียนกระจัดกระจายอยู่ไม่น้อยกว่า 2 แสนแห่ง เด็กอีกราว 5 ล้านคน ดังนั้น การจะทำให้เด็กทุกคนมีพื้นฐานการศึกษาที่ใกล้เคียงกันเป็นเรื่องที่ท้าทาย

วิธีที่ได้ผลอย่างดี คือ การสร้างเครือข่ายโรงเรียน โดยให้แต่ละโรงมีหน้าที่พัฒนา 1 บทเรียน เพื่อสร้างและนำความรู้ที่ได้จากแต่ละบริบท มาสังเคราะห์ และจัดอบรมความรู้ให้กับ ครู ในการพัฒนาการเรียนการสอน

ขณะที่ เด็ก ๆ จากทั่วทั้งประเทศก็จะสามารถเข้าถึง “บทเรียน” เหล่านั้นได้ ครูในห้องเรียนหนึ่งจึงไม่ใช่แค่ครูของห้องเรียนนั้น แต่เขาจะเป็นครูผู้ชำนาญการที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กในทุกโรงเรียนไปพร้อมกัน

เครือข่ายลักษณะนี้ คือ ทิศทางของการศึกษาในอนาคต ที่ความรู้และเนื้อหาวิชาจากห้องเรียนหนึ่งจะถูกบันทึกและส่งต่อไปได้ทั่วโลก ผ่านสมาร์ทโฟนแค่เครื่องเดียว วิธีนี้จะเป็นทั้งการร่นระยะเวลาในการเรียน ทลายข้อจำกัดทางการเดินทาง และกระจายความรู้ได้ในวงกว้าง

ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยี ครูจึงต้องเริ่มต้นสื่อสารรวมตัวกันเป็นเครือข่ายครอบครัว เริ่มจากในท้องถิ่น ไปถึงระดับเมืองระดับประเทศ และทำให้เกิดเป็นเครือข่ายครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้


การประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 (The 2nd Princess Maha Chakri Award Forum 2019) เกิดขึ้น หลังการพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562 (The 3rd Princess Maha Chakri Award Ceremony) โดยปีนี้ มีเครือข่ายครูจากนานาประเทศเข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการมากกว่า 500 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพฯ มีพระราชดำรัส “ไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ แทนครูได้"

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 2019

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แบ่งปันประสบการณ์การสอน 11 ประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง