ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปิดเทอม-หยุดยาว คลังเลือดขาดแคลนหนัก ขอกู้วิกฤตด้วยการ "ให้"

สังคม
26 ต.ค. 62
15:49
1,455
Logo Thai PBS
ปิดเทอม-หยุดยาว คลังเลือดขาดแคลนหนัก ขอกู้วิกฤตด้วยการ "ให้"
วิกฤตสถานการณ์ความต้องการเลือดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณเลือดสำรองในคลัง มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง พบสาเหตุมาจาก “ผู้บริจาคโลหิตที่ลดน้อยลง” ส่วนหนึ่งเพราะติดวันหยุดยาวและช่วงปิดเทอม ผช.ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ขอร่วมกู้วิกฤตด้วยการให้

วันนี้ (26 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากวิกฤตสถานการณ์ความต้องการเลือดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณเลือดสำรองในคลังของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับ ภก.นรินทร์ กิจเกรียงไกรกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ยังมาจาก “ผู้บริจาคโลหิตที่ลดน้อยลง” โดยเฉพาะช่วงเดือน ต.ค. ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เป็นช่วงเด็กและเยาวชนปิดภาคเรียน และไม่มีหน่วยเคลื่อนที่ออกไปรับที่สถาบันการศึกษา เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้การบริจากโลหิตลดลง

สำหรับวิกฤตการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกเดือน จะเป็นเฉพาะช่วงที่มีความต้องการใช้เลือดรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น จนถึงวันนี้ถือว่าผู้บริจาคลดลงกว่าปกติ ผู้บริจาคโลหิตไม่บริจาคโลหิตเป็นประจำสม่ำเสมอทุก 3 เดือน

ปัจจุบันผู้บริจาคโลหิตครั้งแรกมีถึงร้อยละ 60 แต่บริจาคต่อเนื่องปีละ 4 ครั้ง มีเพียงร้อยละ 8  หากเพิ่มในส่วนของผู้บริจาคต่อเนื่องได้จะช่วยเพิ่มเลือดในคลังสำรองได้ นับแสนยูนิต


ภก.นรินทร์ ยังระบุอีกว่า โลหิตที่ต้องการได้รับตาม เป้าหมาย คือ 2,000-2,500 ยูนิตต่อวัน แต่ได้รับโลหิตบริจาคเฉลี่ย 1,500-1,700 ยูนิตต่อวันเท่านั้น จึงเกิดการขาดแคลนสะสมจนทำให้ปริมาณโลหิตคงคลังลดน้อยลงไป ส่งผลกระทบต่อ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด รวมทั้งผู้ป่วยเด็กโรคเลือด เช่น โรคโลหิตจาง ,ธาลัสซีเมีย ,ฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้เลือดในปริมาณมาก และต่อเนื่องตลอดชีวิต

เวลานี้มีโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 160 แห่ง ขอเบิกเลือดมายังศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเฉลี่ยรวม 2,600-3,000 ยูนิตต่อวัน แต่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จ่ายเลือดให้ได้เฉลี่ย1,600-2,000 ยูนิตต่อวัน หรือ ประมาณร้อยละ 50-60 ทำให้โรงพยาบาลต้องเลื่อนการผ่าตัดผู้ป่วยบางราย

ปริมาณความต้องการโลหิตของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ล้านยูนิตต่อปี จัดหาโดยสภากาชาดไทย 1.2 ล้านยูนิตต่อปี โรงพยาบาลภายใต้สังกัด กระทรวงสาธารณสุข 1.3 ล้านยูนิตต่อปี แต่ละหน่วยงานจะจัดสรร-แบ่งปันเลือดในกรณีขาดแคลนอยู่แล้ว


หากมองเฉพาะปริมาณการจัดหาโลหิตของ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จัดหาได้อยู่ที่วันละ 2,000 ยูนิต แบ่งออกเป็นการจัดหาภายในสถานที่1,000 - 1,300 ยูนิต และหน่วยเคลื่อนที่1,000 -1,200 ยูนิต จึงจะเพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต โดยความจำเป็นต้องใช้โลหิต ประกอบด้วย ร้อยละ 77 ผู้ป่วยที่เกิดภาวะสูญสียโลหิตเฉียบพลันเช่นอุบัติเหตุการผ่าตัดเลือดออกในกระเพาะอาหาร ตกเลือดหลังคลอดบุตร ร้อยละ 23 ผู้ป่วยโรคเลือด เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด(ฮีโมฟีเลีย) ฯลฯ

แม้ภาพรวมในแต่ละปี จะมีผู้บริจาคโลหิตเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ความต้องการโลหิตเพิ่มมากขึ้นราวร้อยละ 8 – 10 ต่อปี และจากสถิติยังพบว่า มีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้งกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่มีผู้บริจาคโลหิตปีละ4 ครั้งไม่ถึงร้อยละ 10 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทยจึงรณรงค์จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มความถี่ในการบริจาคจาก 3 กลุ่มเป้าหมาย

 

  • กลุ่มที่ 1 เยาวชนที่มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งเริ่มต้นเป็นผู้บริจาคโลหิตโดยต้องสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนเหล่านี้ให้ถือว่าการบริจาคโลหิตเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะจากสถิติการบริจาคโลหิต พบว่า เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 17-25 ปี มากถึง 126,890 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.21 ของกลุ่มผู้บริจาคโลหิตทั้งหมด และบริจาคโลหิตปีละ1 ครั้ง 218,143 คน คิดเป็นร้อยละ 55.37 จึงยังจำเป็นต้องรณรงค์เพิ่มความถี่ในการบริจาคโลหิตสำรองเพียงพอสำหรับ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต

  • กลุ่มที่ 2 ผู้บริจาคประจำที่มีสุขภาพแข็งแรงบริจาคต่อเนื่องไปจนถึงอายุ70 ปี

  • กลุ่มที่ 3 ประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง แต่ยังไม่เคยบริจาคโลหิตเชิญชวนรณรงค์ให้บริจาคโลหิต ประจำสม่ำเสมอทุก 3 เดือน


โลหิตทุกยูนิต ต้องได้รับจากการบริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดนโยบายการจัดหาโลหิตให้แต่ละประเทศจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนให้ได้ร้อยละ 100 ในปี ค.ศ. 2020 โดยมีประชากรของประเทศนั้นๆ เป็นผู้บริจาคโลหิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของจำนวนประชากรที่มีอายุในเกณฑ์สามารถบริจาคโลหิต


ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ยังกล่าวทิ้งทายถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาระยะยาวว่า ต้องทำให้การบริจาคโลหิตกลายเป็นหน้าที่ของทุกคน เพราะโลหิตถือว่าเป็นยาชนิดหนึ่ง ยาทั่วไปมันสามารถผ่านกระบวนการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่โลหิตมันผลิตขึ้นในร่างกายของมุนษย์เรา เพราะฉะนั้นการจะได้ยาไปรักษาโรคกับผู้ป่วยที่รอรับ จะต้องเกิดจากความตั้งใจที่จะให้ของเจ้าของโลหิตนั้นๆ ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง