วันนี้ (31 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) มอบหมายให้นายพุฒิพงษ์ เลิศสถิตย์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.นำคณะเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. (ส่วนกลาง) และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 3 ลงพื้นที่ ต.ระเว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีได้รับข้อมูลเบาะแสแจ้งว่ามีขบวนการรับทำบัตรคนพิการให้แก่บุคคลที่ไม่พิการ เพื่อรับเบี้ยยังชีพคนพิการ เดือนละ 800 บาท โดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการให้ พร้อมเรียกรับเงินค่าดำเนินการหัวละ 3,000 บาท
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ท.ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.วิธีการออกเอกสารรับรองความพิการของโรงพยาบาลที่ถูกอ้างถึง 2.วิธีการขั้นตอนในการออกบัตรประจำตัวคนพิการของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์ จ.อุบลราชธานี 3.วิธีดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ระเว ในการพิจารณาและเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพความพิการ และ 4.ข้อเท็จจริงจากประชาชนในพื้นที่ ต.ระเว ถึงวิธีการที่ประชาชนดำเนินการเพื่อได้รับบัตรประจำตัวคนพิการ และเบี้ยยังชีพคนพิการ
เบื้องต้น พบปลอมใบรับรองแพทย์จำนวน 48 คน
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่ามีการปลอมลายมือชื่อแพทย์ผู้วินิจฉัยความพิการในเอกสารรับรองความพิการที่ออกให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.ระเว จำนวน 48 คน โดยจากการสอบถ้อยคำประชาชนที่มีรายชื่อดังกล่าว พบว่ามีทั้งกรณีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและกรณีมีชาวบ้านใน ต.ระเว อ้างว่าสามารถดำเนินการทำบัตรคนพิการให้ได้โดยไม่ต้องไปตรวจร่างกายกับแพทย์ เพียงนำสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และเงินจำนวน 3,000-3,200 บาท มาให้ ก็จะสามารถดำเนินการได้ และจากการตรวจสอบพบว่ามีชาวบ้านบางส่วนที่จ่ายเงินเพื่อทำบัตรคนพิการมีสภาพร่างกายปกติ
สำนักงาน ป.ป.ท. จึงเชื่อว่าการรับออกบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าว อาจมีการกระทำเป็นขบวนการและมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าขั้นตอนในการออกบัตรประจำตัวคนพิการ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบหรือตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งหากมีช่องว่างที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง
สำนักงาน ป.ป.ท.จะแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขภายใน 60 วัน และหากพบข้อเท็จจริงว่าในขั้นตอนการออกเอกสารรับรองความพิการ การออกบัตรประจำตัวคนพิการ หรือในการอนุมัติเบิกจ่ายมอบเบี้ยยังชีพคนพิการให้กับประชาชนในพื้นที่ ต.ละเว มีกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตในภาครัฐ จะดำเนินการส่งสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทุจริตซื้อบัตรคนพิการ จ.อุบลฯ พบปลอมใบรับรองแพทย์
จ่าย 3,000 บาท แลกบัตรคนพิการ จ.อุบลราชธานี