วันนี้ (2พ.ย.2562) เวลา 10.00 น.ชาวบ้านดอนแก้ว ดอนชัย แม่เต้น และดอนชัยสักทอง จำนวน 1,000 คน พร้อมด้วยแกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้นใน 4 ยุค คือ ยุคที่ 1 นายชุม สะเอียบคง ยุคที่ 2 นายเส็ง ขวัญยืน ยุคที่ 3 นายอุดม ศรีคำภา และยุคที่ 4 คือยุคปัจจุบัน นายสมมิ่ง เหมืองร้อง
นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป ประกอบพิธีสืบชะตาแม่น้ำ พร้อมทั้งระลึกถึงนักต่อสู้ต้านเขื่อน ผู้ล่วงลับไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สมัชชาคนจน กลุ่มศิลปิน เพื่อสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายต้านเขื่อนการทำลายแม่น้ำโขงเข้าร่วมพิธีเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ที่สามารถยับยั้งมาได้ระดับต้นๆ ในประเทศไทย ก่อนหน้านั้นมีเพียงเขื่อนน้ำโจน ที่สามารถหยุดได้แบบเบ็ดเสร็จ คือ ยุติการสร้างอย่างถาวร
ในพิธีดังกล่าว มีการฟื้นฟูป่าไม้ และร่วมกันบวชป่า ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในบริเวณที่จัดงาน คือ “ผาอิง” ริมน้ำยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ หลังการบวชป่าแล้ว ชาวบ้านได้ร่วมกันสาปแช่ง และเผารายชื่อกลุ่มที่สนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมทั้งเผาหุ่นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.จังหวัดสุโขทัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีข่าวว่านายสมศักดิ์จะรื้อปัดฝุ่นโครงการแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำคนปัจจุบันกล่าวว่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจในความร่วมมือของเครือข่าย ที่ทำงานร่วมกับชาวสะเอียบมา โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ. ศิลปิน สมัชชาคนจน ฯลฯ เดินทางมาร่วมงานอย่างพร้อมเพียงกัน ซึ่งการจัดงานครบรอบ 30 ปี นอกจากพิธีกรรม เช่นเดียวกับการต่อต้านเขื่อนในอดีตแล้ว ยังมีเวทีเสวนาเกี่ยวกับการพัฒนาทำไม่ต้องมีเขื่อน และอีกหลายๆ ประเด็น งานครบรอบ 30 ปี จัดในวัน 2 พ.ย.ไปจนถึงวันที่ 3 พ.ย.2562 นี้
ดร.ชัยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การพัฒนาเรื่องน้ำในปัจจุบัน รัฐยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และความเหมาะสมของชุมชนตัวอย่าง ในปัจจุบันคือการเสริมสปิลย์เวย์ของอ่างเก็บน้ำ ใน ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก
สำหรับประชาชน ที่อยู่ใต้แนวเขื่อน ถ้าน้ำมาจำนวนมาก อาจเกิดปัญหารุนแรงได้ แต่ในภาพรวม การต่อสู้ของภาคประชาชนมายาวนานถึง 30 ปี เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ภาคประชาชนสามารถจัดการระบบน้ำของตนเองได้ ราชการควรเข้าไปให้การสนับสนุน และส่งเสริมให้แนวคิดของชุมชน สามารถดำเนินการได้ไม่ควรไปคิดใหม่หรือทำเสียเอง