ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดที่มา-พอร์ตลงทุน สปส. หลังนายกฯ ให้ศึกษาแนวทางใช้เงิน

เศรษฐกิจ
18 พ.ย. 62
18:16
940
Logo Thai PBS
เปิดที่มา-พอร์ตลงทุน สปส. หลังนายกฯ ให้ศึกษาแนวทางใช้เงิน
เปิดเผยที่มาของกองทุนประกันสังคม และพอร์ตลงทุนที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินไปลงทุน หลังจากนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตนและประชาชน

วันนี้ (18 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอแนวคิดการใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม โดยมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ หากติดขัดในเรื่องข้อกฎหมายก็ให้พิจารณาตามที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตนและประชาชนนั้น

จากข้อมูลของเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่าการประกันสังคมในประเทศไทย เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2515 ภายใต้การบริหารของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน ซึ่งทำหน้าที่ให้หลักประกันแก่ลูกจ้างกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยในปีแรกของการให้ความคุ้มครอง จะครอบคลุมเฉพาะสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไปที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ แล้วจึงค่อยๆ ขยายความคุ้มครองออกไปจนครบทุกจังหวัด ทั่วประเทศในวันที่ 1 ก.ค.2531 จนกระทั่งได้มีการผลักดันพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2533 เป็นต้นมา

ครบรอบ 29 ปี กับ 16 รัฐบาล

สำนักงานประกันสังคม จัดตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2533 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 16 รัฐบาล นายกรัฐมนตรี 14 คน และมีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม 15 คน ครบรอบการดำเนินการ 29 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2562 โดยมีภารกิจสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกันตน ซึ่งกองทุนประกันสังคมจะทำหน้าที่คุ้มครองสมาชิกอยู่ 7 กรณี ด้วยกัน คือการเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

จากข้อมูลล่าสุด พบว่ามีสมาชิกผู้ประกันตน 16,457,941 คน แบ่งเป็นภาคบังคับตามมาตรา 33 จำนวน 11,687,597 คน ประกอบด้วยผู้ประกันตนสัญชาติไทย 10,513,859 คน และผู้ประกันตนต่างชาติ 1,173,738 คน ส่วนผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 จำนวน 1,634,521 คน และผู้ประกันตนที่มีอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ มาตรา 40 จำนวน 3,135,823 คน

จัดสรรเงินไปลงทุนถึง 94.38%


สำหรับกองทุนประกันสังคมเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2534 ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 เงินกองทุนประกันสังคม ตามงบการเงินมีจำนวน 2,177,473 ล้านบาท มีการจัดสรรเงินกองทุนไปลงทุน 2,055,040 ล้านบาท คิดเป็น 94.38% ของเงินกองทุนสะสมทั้งหมด

ส่วนทิศทางลงทุนของกองทุนประกันสังคมเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งกำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงต้องไม่เกิน 40% โดยสถานะเงินลงทุน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 2,055,040 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,633,592 ล้านบาท คิดเป็น 79% และ
ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 421,448 ล้านบาท คิดเป็น 21% มีผลตอบแทนที่ได้รับรู้แล้วในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ 65,823 ล้านบาท เติบโต 18.4% จากสิ้นปี 2561 ที่มีผลตอบแทนอยู่ที่ 55,600 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับขนาดเงินลงทุนของประกันสังคม ณ สิ้นปี 2561 จำนวน 1,908,787 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนดังกล่าวคิดเป็น 3.45% ของเงินลงทุน ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสม ตั้งแต่ปี 2534 - ปัจจุบัน จำนวน 646,220 ล้านบาท

มีเงินฝากในพอร์ตแค่ 3.75%

ขณะเดียวกัน หากแยกตามสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 79% ประกอบด้วย 1.พันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 1,363,220 ล้านบาท คิดเป็น 66.34%, 2.หุ้นกู้เอกชน หรือ securitized debt ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 101,854 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.96%, 3.หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 91,404 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.45% และ 4.เงินฝาก 77,114 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.75%

สัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 21% ประกอบด้วย 1.ตราสารทุนไทย 226,627 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.03%, 2.หน่วยลงทุนตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือและตราสารทุนต่างประเทศ 94,210 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.58%, 3.หน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์-โครงสร้างพื้นฐาน-ทองคำ 61,140 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.98% และ 4.พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน 39,471 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.92%

10 อันดับหุ้น ที่ สปส.ลงทุน

ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารทุนไทย หรือหุ้นไทย ประมาณ 226,627 ล้านบาท โดยหุ้น 10 อันดับแรก รวมมูลค่าประมาณ 133,600 ล้านบาท ที่สำนักงานประกันสังคมถือ คิดตามราคาหุ้น สิ้นสุด ณ วันที่ 18 พ.ย.2562 ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC จำนวน 83,327,800 หุ้น คิดเป็น 2.80% มูลค่าประมาณ 19,165 ล้านบาท, 2.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC จำนวน 49,606,350 หุ้น คิดเป็น 4.13% มูลค่าประมาณ 18,999 ล้านบาท, 3.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จำนวน 379,125,700 หุ้น คิดเป็น 1.33% มูลค่าประมาณ 16,871 ล้านบาท

4.บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จำนวน 646,754,600 หุ้น คิดเป็น 4.07% มูลค่าประมาณ 15,522 ล้านบาท, 5.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT จำนวน 161,239,300 หุ้น คิดเป็น 1.16% มูลค่าประมาณ 13,329 ล้านบาท, 6.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จำนวน 65,464,800 หุ้น คิดเป็น 3.43% มูลค่าประมาณ 11,358 ล้านบาท

7.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จำนวน 93,348,100 หุ้น คิดเป็น 2.75% มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท, 8.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK จำนวน 69,043,300 หุ้น คิดเป็น 2.88% มูลค่าประมาณ 10,114 ล้านบาท, 9. บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL จำนวน 124,603,200 หุ้น คิดเป็น 1.39% มูลค่าประมาณ 9,532 ล้านบาท และ 10.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จำนวน 302,520,000 หุ้น คิดเป็น 3.51% มูลค่าประมาณ 7,789 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง