ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ธปท.ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ

เศรษฐกิจ
22 พ.ย. 62
18:30
770
Logo Thai PBS
ธปท.ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการและต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้นมากขึ้น จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและส่งผลกระทบไปสู่ตลาดแรงงานอย่างชัดเจน

วันนี้ (22 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ฉบับย่อ ครั้งที่ 7/2562 วันที่ 6 พ.ย.2562 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่การจ้างงานมีแนวโน้มปรับลดลงเร็วทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเผชิญกับความเสี่ยงสูงทั้งปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยในประเทศ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2562 และปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอุปทานน้ำมันของซาอุดิอาระเบียที่กลับมาเร็วกว่าคาด ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่คาดตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง

ส่วนความเสี่ยงในระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วนด้วยมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไป อาทิ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับดีขึ้นหลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้สะท้อนจากการเก็งกำไรที่ชะลอลงและการปรับตัวของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลง

คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงชัดเจนและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมาย ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศ

รายงานยังระบุอีกว่า เพื่อให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้มีเวลาปรับตัวเพื่อรับมือกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ อาทิ การขยายขอบเขตของโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจ SMEs เพื่อให้สามารถผ่อนชำระหนี้และดำเนินกิจการต่อไปได้ อีกทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเอื้อให้นโยบายการคลังของภาครัฐช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง