คู ฮารา เดบิวต์ในฐานะเกิร์ลกรุ๊ปวงคาร่า (Kara) ในปี พ.ศ.2551 ก่อนที่วงคาร่าจะประกาศยุบวง ในปี 2559 ก่อนเริ่มต้นเส้นทางนักร้องเดี่ยวในประเทศญี่ปุ่นและได้รับความรักมากมาย กระทั่งเดือน ก.ย.2561 อดีตคนรักของคู ฮาราได้ยื่นฟ้องคู ฮาราในข้อหาทำร้ายร่างกาย ขณะที่คู ฮารา ตัดสินใจยื่นฟ้องอดีตคนรัก ในข้อหาทำร้ายร่างกายด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีหลักฐานว่าอดีตคนรักของคู ฮาราลักลอบถ่ายภาพเปลือยและข่มขู่นำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ กลายปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อจิตใจของคู ฮารา จนมีรายงานว่า เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คู ฮาราถูกพบหมดสติในบ้านพัก และมีรายงานข่าวว่าเธอพยายามฆ่าตัวตาย
ภาพ : HARA ハラ
คู ฮารา ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ ท่ามการเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อสังคมออนไลน์ และเธอต้องเจ็บปวดอีกครั้งเมื่อพบข่าวอันน่าเศร้าว่าซอลลี่ เพื่อนของเธอได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ คู ฮารา ไลฟ์ผ่านอินสตาแกรมพร้อมร้องไห้อย่างหนัก และกล่าวขอโทษซอลลี่ที่ไม่สามารถไปร่วมไว้อาลัยที่งานศพได้ เนื่องจากติดตารางงานที่ประเทศญี่ปุ่น จนทำให้แฟนคลับหลายคนต่างเข้าไปให้กำลังใจคู ฮาราเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความคิดเห็นบูลลี่จำนวนไม่น้อยถูกส่งไปยังคู ฮาราผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ การต่อสู้กับแรงกดดันต่างๆ ทำให้คู ฮาราจากไปอย่างสงบ ในบ้านพักย่านชองดัมวานนี้
แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการผลักดันให้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่เรียกว่า “กฎหมายซอลลี่” โดยผู้ร่างกฎหมายมีความมุ่งหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยตอบโต้การแสดงความคิดเห็นเกลียดชัง โดยรายงานระบุว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ เสนอโดยสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้จำนวนประมาณ 9 คน และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนอีก 100 แห่ง รวมถึงศิลปินและนักแสดงอีกประมาณ 200 คน ที่มีประสบการณ์ถูกไซเบอร์บูลลี่หรือเป็นเพื่อนร่วมงานกับซอลลี่ แต่การแสดงความคิดเห็นเกลียดชังก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โซเชียลบูลลี่จากเนติเซนเกาหลี น่ากลัวแค่ไหน?
รายการ "Unanswered Questions" ทางช่อง SBS ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นสงสัยเรื่องการสร้างข่าวลือเพื่อทำลายชื่อเสียงและไซเบอร์บูลลี่กับการจากไปของซอลลี่ พร้อมทั้งได้สัมภาษณ์เนติเซนเกาหลีเที่เคยแสดงความคิดเห็นบูลลี่ซอลลี่บนอิสตาแกรม ซึ่งหลายคนเรียกพวกเขาเหล่านั้นว่า "แอนตี้" โดยตัวอย่างคำสัมภาษณ์ ระบุว่า
แอนตี้ A : ถ้าฉันพิมพ์ข้อความนี้ไปเมื่อ 10 สัปดาห์ก่อน ฉันก็จะขอโทษเป็นร้อยครั้ง แต่ฉันพิมพ์ข้อความนั้นไปตั้ง 100 สัปดาห์ก่อน แล้วจะให้ฉันพูดอะไรเกี่ยวกับข้อความที่คุณขุดมาตอนนี้
โปรดิวเซอร์ : แต่เราเห็นว่าความคิดเห็นนี้พูดเกี่ยวกับร่างกายของซอลลี่ และชัดเจนว่าตั้งใจจะวิจารณ์รูปร่างเธอ
แอนตี้ A: เอาอะไรมาวัดว่าตั้งใจจะหยาบคาย? ฉันหมายถึงเธอน่ารักอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องทำสิ่งที่ลดคุณค่าความสวยของตัวเอง
โปรดิวเซอร์: คุณคิดว่าเธอโพสต์ภาพด้วยวัตถุประสงค์แบบนั้นหรือ
แอนตี้ A: แล้วมีเหตุผลอย่างอื่นอีกหรือ ที่ทำให้เธอแสดงออกแบบนั้น
โปรดิวเซอร์: แล้วคุณต้องการอะไรถึงได้แสดงความคิดเห็นแบบนั้นในอินสตาแกรมของเธอ
แอนตี้ A: คุณเป็นแฟนคลับเธอหรือ? ฉันไม่ได้แสดงความคิดเห็นถึงคุณด้วยซ้ำ
ส่วนแอนตี้อีกคนที่โพสต์ข้อความวิจารณ์ซอลลี่นั้นบอกว่า มันเป็นแค่เรื่องตลกเท่านั้น เพราะคิดว่าถึงแม้ซอลลี่จะเป็นผู้หญิง แต่มีจิตใจเข้มแข็งมากกว่าผู้ชาย จึงคิดว่าแค่พิมพ์ข้อความแบบนั้นไป เธอคงไม่แคร์ และผมไม่คิดว่ามันเป็นข้อความหยาบคายด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับข้อความที่บอกว่า "ไปตายซะ" หรือบางคำที่แย่กว่านั้น
ผมไม่คิดว่าเธอจะมีช่วงเวลาที่แย่จากคอมเม้นท์คุกคามทางเพศ คือผมคิดว่าคนดังต้องเข้าใจว่าไม่ได้จะมีแต่คนรักและชื่นชม พวกเขาต้องทนต่อคอมเม้นท์แย่ๆ ให้ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาก็ได้สิ่งแลกเปลี่ยนเป็นชีวิตดีๆ ไม่ใช่หรือ พวกเขามีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ มีรถแพงๆ ขับ แล้วก็มีทุกอย่างที่ดูดี
แอนตี้อีกคนเลือกใช้คำหยาบคายในการแสดงความคิดเห็น โดยเรียกซอลลี่ว่าโสเภณีซึ่งเขาบอกว่าคนดังก็ต้องทนต่อความเกลียดชังได้ เพราะว่าการได้รับความคิดเห็นในเชิงลบ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำอาชีพดารา
ผมเคยเรียกเธอว่าทำตัวเหมือนโสเภณีที่เรียกร้องความสนใจ แต่เธอก็ต้องยอมรับว่าทำตัวแบบนั้นจริง ไม่ได้เกลียดอะไรขนาดนั้น ไม่ได้บอกให้ไปตายซักหน่อย ผมคงคิดน้อยไปหน่อยเกี่ยวกับชีวิตของเธอ แต่คุณจะเป็นคนดังได้อย่างไร ถ้ามีจิตใจที่อ่อนแอ คุณต้องแสดงต่อหน้าผู้คนนะ
นอกจากนี้ทีมผู้ผลิตของ "Unanswered Questions" ยังได้วิเคราะห์ว่าช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาในการแสดงความคิดเห็นเกลียดชัง ซึ่งเคยมีนักข่าวคนหนึ่งที่ได้เขียนบทความบางอย่างเกี่ยวกับซอลลี่ แล้วเธอก็ระบุว่า "ไม่ใช่ว่าบทความนั้นเขียนขึ้นเมื่อวานนี้ แต่ผู้คนตำหนิฉันราวกับว่ามันเป็นความผิดของฉันที่ทำให้ซอลลี่จากไป มันแย่มาก"
สะสมความกดดันสู่ความเจ็บปวด
การรับความคิดเห็นเกลียดชังหรือถูกไซเบอร์บูลลี่นั้น เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิลปินเกาหลีได้รับจนส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ แต่กว่าศิลปินคนหนึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงนั้น ต้องผ่านด่านต่างๆ มามากมาย ซึ่งเหมือนเป็นการสะสมความกดดันมาตั้งแต่อดีต การเป็นเด็กฝึกหัดในค่ายเพลงเกาหลีส่วนใหญ่นั้น จะมีการทดสอบประจำสัปดาห์เพื่อประเมินผลการฝึกซ้อม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กฝึกหัดจะมีแรงกดดันตลอดเวลา
หากประเมินแล้วพบว่าทำได้ดี โอกาสในการเดบิวต์หรือเปิดตัวเพื่อเป็นศิลปินก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนจึงทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อเดินตามความฝัน บางคนเป็นเด็กฝึกหัดเพียง 1-2 เดือนก็มีโอกาสได้เดบิวต์ แต่บางคนต้องฝึกฝนมากกว่า 10 ปี จึงจะได้เปิดตัวเป็นนักร้องอย่างที่ตั้งใจ
เมื่อเปิดตัวแล้ว ความกดดันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ใช่ทุกคนหรือทุกวงที่จะเปิดตัวเป็นศิลปินแล้วจะโด่งดังจนเป็นที่รู้จัก อีกทั้งการแข่งขันในวงการบันเทิงเกาหลีนับว่าดุเดือดขึ้นทุกวัน ทั้งจากวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปที่เปิดตัวใหม่ในทุกๆ วัน การวัดความสำเร็จด้วยถ้วยรางวัลในรายการเพลงทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งต้องนับจากยอดการฟังเพลงผ่านชาร์ตดิจิทัล การโหวตผ่านเอสเอ็มเอสในช่วงรายการถ่ายทอดสด รวมไปถึงการนับจำนวนซื้ออัลบั้ม ทำให้ศิลปินเกาหลีต่างต้องรับแรงกดดันอยู่ตลอดเวลา แล้วยังต้องพบกับการแสดงความคิดเห็นเกลียดชังบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
ไม่ใช่เพียงนักร้องเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องเหล่านี้ แต่บรรดานักแสดงในวงการเกาหลีต่างก็กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่เปราะบาง โดยก่อนหน้านี้ The Korea Times รายงานเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่อง "study on depression our suicidal urges among actor yonsei" โดยพบว่า นักแสดง 4 ใน 10 คน ต้องเผชิญกับภาวะโรคซึมเศร้า โดยพบว่ากว่าร้อยละ 20 ของกลุ่มตัวอย่างเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า ดัชนีความเครียดของนักแสดงเกาหลีอยู่ที่ 53.12 จาก 100 ซึ่งสูงกว่าผู้ชายที่ประกอบอาชีพอิสระที่ 48.12 และคนงานที่ได้รับเงินเดือนทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 48.18 โดยหลังจากเกิดเหตุการฆ่าตัวตายของนักแสดงชเวจินซิล ในเดือน ต.ค.2551 จำนวนการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก
เกาหลีใต้ อัตราฆ่าตัวตายท็อป 5 ของโลก
แรงกดดันจากอาชีพ สังคม เศรษฐกิจ และความคิดเห็นเกลียดชัง กลายเป็นบาดแผลที่สร้างความเจ็บช้ำซ้ำไปซ้ำมาของศิลปินและนักแสดงเกาหลี จนนำไปสู่เรื่องราวอันน่าเศร้าใจ แต่ไม่ใช่แค่เฉพาะในอาชีพศิลปิน นักร้อง และนักแสดงเท่านั้น แต่ข้อมูลการเฝ้าระวังปัญหาฆ่าตัวตายในโลกขององค์การอนามัยโลก ปี ค.ศ.2019 พบว่าเกาหลีติดอันดับประเทศที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุด 5 อันดับแรก
- ลิธัวเนีย อัตราฆ่าตัวตาย 31.9 ต่อประชากรแสนคน
- รัสเซีย อัตราฆ่าตัวตาย 31.0 ต่อประชากรแสนคน
- กุยานา มีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 29.2 ต่อประชากรแสนคน
- เกาหลีใต้ อัตราฆ่าตัวตาย 26.9 ต่อประชากรแสนคน ถือว่าเกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุดในเอเชีย
- เบลารุส อัตราฆ่าตัวตาย 26.3 ต่อประชากรแสนคน
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า เกาหลีเคยเป็นแชมป์ของประเทศที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุดในโลก ระหว่างปี ค.ศ.2010-2014 จัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่สีแดงบนแผนที่ภูมิสารสนเทศฆ่าตัวตายสูง โดยในปี ค.ศ.2015 พบว่า เกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับ 3 ของโลก เท่ากับ 29.8 ต่อประชากรแสนคน
แม้ว่าปีล่าสุดเกาหลีจะมีอัตราฆ่าตัวตายลดลง แต่เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก ทั้งนี้จากข้อมูลรายละเอียดพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาฆ่าตัวตายของประชากรเกาหลี เกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็นหลักคือ ปัจจัยด้านครอบครัว (Family Problem) และปัจจัยด้านเศรษฐกิจสังคม (Socioeconomic factors) อันเป็นแรงกดดันสังคม (Social Pressure) นำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิตเวชอย่างรุนแรง
จากการศึกษาของ Sang-Uk Lee และคณะ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เกาหลีใต้ ซึ่งได้รับทุนจากสถาบันวิจัยของหน่วยงานกลางของชาติด้านสุขภาพจิต ศึกษาวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสถิติการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้ตั้งแต่ ค.ศ.1993 - 2016 เพื่อศึกษาแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น (Changing trends in suicide rates in South Korea from 1993 to 2016: a descriptive study) เผยแพร่ในวารสาร BMJ เมื่อ 28 ก.ย.2018 ซึ่งพบว่า แนวโน้มปัญหาฆ่าตัวตายในเกาหลีตั้งแต่ปี 2010-2016 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5.5 โดยพบมากในเพศชาย
ในขณะที่ข้อมูลช่วงปี 2009-2016 พบว่า เพศหญิงมีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 7.5 ช่วงอายุที่พบการฆ่าตัวตายสูงสุดคือช่วงวัย 30-49 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มวัยทำงาน อยู่ในช่วงการสร้างฐานะครอบครัวและการแต่งงาน สอดคล้องกับข้อมูลองค์การอนามัยโลกที่กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความรุนแรงของปัญหาฆ่าตัวตายของเกาหลีใต้คือ ปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ และแรงกดดันจากสังคม
สื่อ-โซเชียลมีเดีย แนะโทรปรึกษาสายด่วนป้องกัน "ฆ่าตัวตาย"
นอกจากรัฐบาลเกาหลีจะยอมจ่ายเพื่อศึกษาวิจัยสถิติการฆ่าตัวตายและลดอัตราการฆ่าตัวตายแล้ว ปัจจุบันการรายงานข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของสื่อท้องถิ่นเกาหลีใต้ ยังมีการลงท้ายด้วยคำแนะนำและข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนสุขภาพจิตของเกาหลี อย่างกรณีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของคู ฮารา สื่อท้องถิ่นเกาหลีใต้บางสำนัก อย่าง YTN หรือ ยอนฮับนิวส์ ก็ได้มีการรายงานข่าวพร้อมกับคำแนะนำท้ายข่าว ระบุว่า หากคุณมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก ต้องการพูดคุยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า หรือหากคุณมีครอบครัวหรือคนรู้จักที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว โปรดติดต่อสายด่วนป้องกันการฆ่าตัวตายเกาหลีใต้ ☎1577-0199, Call of Hope ☎ 129, Call of Life ☎1588-9191 และ Youth Call ☎1388 เป็นต้น
นอกจากนี้ สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีส่วนช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายโดยได้เพิ่มฟังก์ชันการแนะนำและให้ข้อมูลสำหรับการรับคำปรึกษาเบื้องต้น ผ่านทางโทรศัพท์และให้คำแนะนำเบื้องต้นแล้ว
หากพิมพ์คำว่า "Suicide" ในเฟซบุ๊ก (Facebook) สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในทั่วโลก ปัจจุบันจะปรากฏประโยคที่ระบุว่า เราช่วยอะไรคุณได้บ้าง หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักกำลังประสบช่วงเวลาที่ยากลำบาก เรายินดีช่วยเหลือ พร้อมปุ่มกดขอความช่วยเหลือ หลังจากกดขอความช่วยเหลือแล้ว จะมีตัวเลือกขึ้นมา 3 ตัวเลือก ได้แก่
1.พูดคุยกับเพื่อน ส่งข้อความหรือโทรหาคนที่คุณไว้ใจ เมื่อเลือกข้อนี้ เฟซบุ๊กจะนำคุณไปที่หน้า "คุยกับเพื่อนที่คุณไว้ใจเป็นการส่วนตัว" โดยจะมีช่องให้คุณพิมพ์ชื่อบัญชีเพื่อนของคุณ พร้อมข้อความอัตโนมัติที่พิมพ์ไว้ให้ว่า "ฉันกำลังมีปัญหา อยากขอปรึกษาหน่อย ถ้าว่างคุย ช่วยส่งข้อความกลับมาหาฉันหน่อย" โดยข้อความดังกล่าวจะส่งไปยังกล่องข้อความของเพื่อนทันที
2.ติดต่อสายด่วนช่วยเหลือ บุคคลเหล่านี้สามารถรับฟังและช่วยให้คุณผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ คุยกับคนที่ผ่านการอบรมเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยจะมีข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือที่ผ่านการอบรมของ The Samaritans of Thailand หมายเลข 02 713 6793 ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ถึง 22.00 น. หรือเริ่มแชทกับเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือที่ผ่านการอบรมของ The Samaritans of Thailand ทางกล่องข้อความ
3.วิธีหากำลังใจด้วยตัวเอง ต่อไปนี้คือขั้นตอนง่ายๆ ที่คนอื่นๆ เห็นว่ามีประโยชน์ในช่วงเวลาที่รู้สึกยากลำบาก แม้จะเป็นกิจกรรมเบาๆ แต่แต่ละกิจกรรมสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของคุณได้
ยับยั้งวิกฤต คุณอาจคิดอะไรไม่ค่อยออกเมื่อคุณรู้สึกไม่สบายใจจริงๆ ขั้นตอนเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณผ่านช่วงวิกฤตไปได้
อย่าตัดสินใจเรื่องสำคัญเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- ติดต่อคนที่สามารถช่วยคุณเบี่ยงเบนความสนใจได้
- พูดว่า "คุณช่วยเบี่ยงเบนความสนใจฉันสักพักได้ไหม"
- หายใจเข้า 3 วินาที หายใจออก 5 วินาที จากนั้นทำซ้ำ
เปลี่ยนสภาพแวดล้อมของคุณ คุณอาจรู้สึกไม่อยากเคลื่อนไหวเมื่อคุณรู้สึกแย่ แต่การเปลี่ยนสถานที่อาจช่วยเปลี่ยนความรู้สึกของคุณได้ ลองทำสัก 10 นาทีแล้วดูว่าคุณรู้สึกอย่างไร
- ออกไปเดินเล่นข้างนอก
- ไปสถานที่ที่คุณชอบ เช่น สวนสาธารณะหรือห้องสมุด
- ไปที่ร้านขายของชำ
ดูแลตัวเอง เมื่อคนเรารู้สึกไม่สบายใจ เรามักจะไม่ตระหนักว่าร่างกายของเราต้องการอะไร การดูแลความต้องการทางร่างกายเป็นการบอกให้จิตใจรู้ว่าตัวคุณก็มีความสำคัญ
- ดื่มน้ำแก้วใหญ่
- รับประทานอาหารว่างหรืออาหารมื้อหลักที่มีประโยชน์
- ทำสิ่งที่จะช่วยให้คุณผ่อนคลาย เช่น อาบน้ำหรือพักผ่อน
ขณะที่ทวิตเตอร์ก็มีฟังก์ชันนี้ #ThereIsHelp โดยหากคุณค้นหาคำว่า "ฆ่าตัวตาย" หรือ Suicide แล้วเลือกไปที่รูปภาพหรือวีดิโอ ก็จะมีข้อความขึ้นว่า เราพร้อมช่วยคุณ คุณไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ว่าคุณหรือคนรู้จักกำลังท้อแท้หรือเผชิญวิกฤตในชีวิต สมาคมสะมาริตันส์ฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของเราสามารถช่วยคุณได้ โดยในประเทศไทยสามารถโทรหาเราได้ที่ 027136793 หรือ โทรหาสายด่วนของกรมสุขภาพจิต 1323 เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายอีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไซเบอร์บูลลี่ กับรอยยิ้มที่หายไปของซอลลี่
"คู ฮารา" อดีตนักร้องวง KARA เสียชีวิตในบ้านพัก