นักศึกษาในประเทศอังกฤษพัฒนาถุงพลาสติกจากเกล็ดปลาทะเลและสาหร่ายทะเลสีแดง โดยสามารถผลิตพลาสติกชีวภาพที่มีความทนทานสูงมากกว่าพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม นอกจากนี้ยังสามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาประมาณ 1-2 เดือน สามารถลดการพึ่งพาการใช้พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียมที่สร้างปัญหาขยะให้กับสภาพแวดล้อมของโลกอยู่ในขณะนี้
การพัฒนาพลาสติกจากเกล็ดปลาทะเลและสาหร่ายทะเลสีแดงเริ่มต้นจากโปรเจคมหาวิทยาลัยของ ลูซี่ ฮิวจ์ (Lucy Hughes) นักศึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ เพื่อสร้างพลาสติกชีวภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากในมหาสมุทรซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของปลาจำนวนมาก
นักศึกษา ลูซี่ ฮิวจ์ ค้นพบว่าในแต่ละปีวัสดุชีวภาพที่ถูกทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลจำนวนมหาศาล เช่น เกล็ดปลาที่ประกอบด้วยสารยึดเกาะอินทรีย์ไคโตซาน รวมไปถึงสาหร่ายทะเลสีแดงซึ่งพบได้ในธรรมชาติ สาหร่ายทะเลสายพันธุ์นี้มีสารชีวภาพประเภทวุ้นที่มีความยืดหยุ่นเหมาะสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตพลาสติกชีวภาพที่มีความทนทานสูง
ผลงานการคิดค้นของ ลูซี่ ฮิวจ์ ได้รับรางวัล James Dyson Award ที่ก่อตั้งโดยนักประดิษฐ์และมหาเศรษฐี เซอร์เจมส์ ไดสัน (James Dyson) รางวัลนี้มอบให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยจากทั่วโลกที่คิดค้นเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาให้กับโลกและเพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาในด้านต่าง ๆ ของโลกซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการออกแบบและใช้ความคิดใหม่ ๆ ของพลังนักศึกษา
จากการศึกษาพบว่าเมื่อพลาสติกแตกตัวในมหาสมุทรกลายเป็นไมโครพลาสติกจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร ไมโครพลาสติกขนาดเล็กจำนวนมากที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเข้าสู่ร่างกายของปลาทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ การค้นพบดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าหากมนุษย์ทิ้งพลาสติกลงแม่น้ำลำคลองและลอยออกไปสู่มหาสมุทร ขยะพลาสติกเหล่านั้นก็กลับคืนสู่ร่างกายของมนุษย์ในรูปของอาหารทะเลได้ในอนาคต ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรกลายเป็นสิ่งใกล้ตัวมนุษย์มากที่สุดปัญหาหนึ่ง
----------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech
ที่เพจ Thai PBS Sci & Tech