วันนี้ (6 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาและมีมติขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้น ซึ่งแบ่งเป็น 10 ระดับ ได้แก่
- ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรีและภูเก็ต
- ระดับที่ 2 ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง
- ระดับที่ 3 ค่าจ้าง 331 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- ระดับที่ 4 ค่าจ้าง 330 บาท คือ ฉะเชิงเทรา
- ระดับที่ 5 ค่าจ้าง 325 บาท มี 14 จังหวัด คือ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
- ระดับที่ 6 ค่าจ้าง 324 บาท มี 1 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี
- ระดับที่ 7 ค่าจ้าง 323 บาท มี 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
- ระดับที่ 8 ค่าจ้าง 320 บาท มี 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุงพิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์
- ระดับที่ 9 ค่าจ้าง 315 บาท มี 22 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ
- ระดับที่ 10 ค่าจ้าง 313 บาท มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
โดยคณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้น 6 บาทใน 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ภูเก็ต ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
ส่วนจังหวัดที่เหลือจะปรับขึ้น 5 บาท ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2563
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ได้พิจารณาอย่างกว้างขวางและรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ภาวะเงินเฟ้อ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนมาตรการลดผลกระทบ กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลเรื่องการควบคุมราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน จะดูแลเรื่องผลกระทบด้วยการประกันการว่างงานและการเพิ่มทักษะฝีมือให้กับแรงงาน