เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Sakanan Plathong ระบุว่า
เจอเส้นสีส้มในปลา เขี่ยไปให้ภรรยาถ่ายรูปให้ พยาธิที่พบในปลาทะเล หน้าตามันเป็นเช่นนี้ Anisakis simplex
พยาธิในภาพมีลักษณะเป็นเส้นสีส้มและมีจำนวนหลายตัว โดยนายศักดิ์อนันต์ได้ตอบคำถามของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นบางส่วนว่า พบพยาธิดังกล่าวอยู่ตรงพุง บริเวณที่เป็นไข่ปลา โดยสามาถพบได้ในปลาทะเลหลายชนิด
Anisakis simplex หนอนพยาธิที่พบในปลาทะเล
ข้อมูลบางส่วนจาก พญ.พัชรพร เตชะสินธุ์ธนา ที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร ระบุว่า แอนิซาคิส ซิมเพล็ก เป็นหนอนพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อน ในประเทศไทย ตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย ปลาลัง ส่วนในต่างประเทศจะพบในปลาจำพวก ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง
ระยะตัวอ่อนที่ติดต่อสู่คนจะอยู่อวัยวะภายในช่องท้องของปลาทะเล มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขนาดยาวประมาณ 1-2 ซม. กว้างประมาณ 0.3-0.5 มม. สีขาวใส มีลายตามขวาง บริเวณส่วนปากจะมีหนามขนาดเล็ก บริเวณปลายหางจะมีส่วนแหลมยื่นออกมา พยาธิชนิดนี้จะใช้ปากที่เป็นหนามขนาดเล็กบริเวณหัวในหารไชผ่านเนื้อเยื่อต่างๆ อีกทั้งยังสามารถคงทนต่อน้ำ เกลือ และแอลกอฮอล์ได้เป็นอย่างดี
อาการผิดปกติ เนื่องจากพยาธิชนิดนี้ขณะเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อสู่คนบริเวณปากของพยาธิจะมีหนามขนาดล็ก ขณะเคลื่อนที่จะไชในกระเพาะอาหารและลำไส้ของคน ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก และอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่งผลให้ผู้ที่มีพยาธิชนิดนี้ในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด อาการมักไม่เฉพาะเจาะจงคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะ บางรายอาจท้องเสีย หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ อาการมักจะเริ่มเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้เป็นชั่วโมงหรืออาจเป็นวันก็ได้ และถ้าหากพยาธิชนิดนี้ฝังตัวอยู่ในทางเดินอาหารนานๆ จะทำให้เกิดลักษณะของก้อนทูมขึ้นในทางเดินอาหารได้ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อพยาธิ