ปี 2562 ยังคงมีการเรียกร้องให้ภาครัฐส่งเสริมการออกแบบเพื่อทุกคน เพื่อให้ทุกชีวิตมีสิทธิในการดำรงชีพเท่าเทียมกัน นับว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้น จากโครงการของภาครัฐ แต่การปฏิบัติและบังคับใช้ ยังคงเป็นความท้าทาย
การออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) หรือ การออกอาคารสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ และสภาพแวดล้อม ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุและสภาพร่างกาย จึงต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปรียบเหมือนสวัสดิการสาธารณะ ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ไม่ว่าจะพิการด้านใดก็ตาม
แนวคิดดังกล่าว ถูกผลักดันจากกลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ มาตลอด 20 ปี เพื่อเรียกร้องให้สังคมเข้าใจว่าแต่ละคนมีความต้องการที่ต่างกัน และเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคมจากการส่งเสริมการออกแบบเพื่อทุกคน
มกราคม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all) ปีที่ 2 นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ 5 เส้นทางทั่วทุกภูมิภาคของไทย รวม 14 จังหวัด ปลุกกระแสท่องเที่ยวไทยอย่างเท่าเทียม ที่ให้ทุกคนทั้งคนพิการและคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยระบุว่ามีการออกแบบ ปรับปรุงบรรยากาศการท่องเที่ยวบนพื้นฐานที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน หรือ Universal design ซึ่งประกอบด้วยการนำเสนอรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก จุดชมทิวทัศน์ รูปแบบการเดินทาง ร้านอาหาร ที่พัก
แต่จากการสำรวจพื้นที่ตัวอย่างของโครงการ อย่างตลาดเก่าโพธาราม และอุทยานเขาหินงู จ.ราชบุรี กลับพบว่ายังมีอุปสรรคในการเดินทาง เช่น ทางลาดที่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยของคนพิการกรณีใช้รถวีลแชร์ และทางเท้าหลายจุดยังไม่เพียงพอต่อการเดินทางด้วยวีลแชร์ รวมถึงการติดตั้งอักษรเบรลล์ หรืออักษร ไม่เพียงพอสำหรับคนตาบอด
มีนาคม องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดซื้อรถเมล์ชานต่ำ รองรับผู้พิการใช้บริการสะดวก จำนวน 2,188 คัน วงเงิน 12,091 ล้านบาท และได้มีการส่งมออบรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) หรือรถเมล์ชานต่ำให้ออกมาวิ่งบริการเพิ่มอีก 89 คัน รวม 400 คัน ให้บริการเส้นทางต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร
แต่ยังพบว่ามีอุปสรรคในการให้บริการ เช่น การจอดรถริมทางเท้าที่ทำให้รถเมล์ชานต่ำไม่สามารถจอดเทียบฟุตบาทได้อย่างสะดวก การที่รถมีจำนวนน้อยต้องคอยนาน และทักษะการใช้อุปกรณ์เพื่อรองรับและรักษาความปลอดภัยสำหรับคนพิการภายในรถยังไม่เพียงพอ เช่น อุปกรณ์สำหรับล็อครถวีลแชร์ไม่ให้เคลื่อนไหวขณะรถวิ่ง
มีนาคม ศาลปกครองกลาง พิพากษาสำนวนคดีการฟ้องเรียกร้องสิทธิคนพิการจากกรณีที่ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการรถไฟฟ้า โดยวินิจฉัยว่า กรุงเทพมหานครไม่ต้องชดเชยค่าเสียหาย 1,400 ล้านบาท ให้กับคนพิการ ในกรณีที่ไม่ติดตั้งลิฟท์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 แม้ว่านั่นจะเป็นคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่พิจารณาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ตัวแทนคนพิการจากทั่วประเทศ ที่รอฟังคำวินิจฉัยกว่า 400 คน ต้องผิดหวัง หลังต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิด้านการคมนาคมขนส่งมานานกว่า 20 ปี
สิงหาคม กรมทางหลวงให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต เชื่อมโยงถนนพหลโยธินระหว่าง กม.4+490-กม.28+700 โดยจะมีปรับปรุงสถานีสูบน้ำและทำทางจักรยานเลียบถนน และทางเท้า แต่ไม่ครอบคลุมตลอดเส้นทาง เพราะติดปัญหาทางเข้าออกอาคารสถานที่ของประชาชนที่ติดอยู่ริมถนนใหญ่ ขณะที่ปัจจุบัน ถนนวิภาวดีรังสิต ยังคงพบปัญหาทางเท้าขาดช่วงและคนพิการไม่สามารถสัญจรได้สะดวก
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน – สิรินธร เปิดให้บริการ โดยพบว่า มีการติดตั้ง warning block หรือ พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน เป็นสัญญาณให้คนพิการทางสายตาระมัดระวัง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการติดตั้งในสถานีรถไฟใต้ดิน แต่ยังพบว่ายังไม่มีการติดตั้งลิฟต์ครบทุกประตูทางออก ในส่วนที่มีลิฟต์ ก็พบว่าออกจากสถานีรถไฟฟ้า ก็อุปสรรคในการเดินทางเชื่อมถนนสายอื่นๆ ที่สะท้อนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทุกหน่วยงานต้องระดมความร่วมมือในการแก้ไข
กันยายน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการประชุมประจำปี 2562 พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก ส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของคนทุกกลุ่มบนพื้นฐานความพร้อมและปัจจัยแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ เช่น เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย (Age-friendly City) เมืองสุขภาวะ (Healthy City) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมถึงการรองรับคนพิการด้วย แต่พบว่ายังไม่มีกระบวนการหรือกลไกการปฏิบัติที่แน่ชัด
ธันวาคม เกิดเหตุการณ์ทุบกระจกรถ ภายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย เนื่องจากไม่พอใจที่มีคนทั่วไป (ไม่พิการ) จอดรถในที่จอดรถของคนพิการ หลังพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยตั้งใจเบียดเบียนสิทธิของคนพิการ และอยากให้การทุบกระจกเป็นการส่งเสียงสะท้อนถึงสังคม
แม้มีสัญญาณดี แต่สิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่สมบูรณ์
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ ระบุว่า ที่ผ่านมามีแนวโน้มที่สิทธิคนพิการถูกให้ความสำคัญมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะแม้สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานจะถูกกำหนดไว้ตามกฏหมาย ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์
สมมติมีระบบรถไฟฟ้าหนึ่งระบบสร้างขึ้นมา หนึ่งสถานีมีทางออกสู่ทางออก บางครั้งมีการติดลิฟท์หนึ่งตัวบ้าง สองตัวบ้าง ยังไม่ครบถ้วน บางสถานียังใช้งานไม่ได้จริง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
มานิตย์ ยังยกตัวอย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หากลงลิฟท์จากรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วจะไปโรงพยาบาล ไม่สามารถนำวีลแชร์เข็นไปได้เลย เพราะถนนไม่เอื้ออำนวย ยังไม่นับรวมคนตาบอดหรือคนที่มีศักยภาพที่ด้อยมาก ๆ ซึ่งยังรอให้ภาครัฐมีการแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจ
นอกจากนี้ยังพบว่า คนพิการยังถูกละเมิดสิทธิในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การทุจริตหักหัวคิวค่าจ้างงานคนพิการ รวม 1,500 ล้านบาท/ปี และการทุจริตทำบัตรคนพิการให้กับคนทั่วไป ในราคา 3,000 บาท ที่ จ.อุบลราชธานี ทำให้คนพิการต้องออกมาเดินรณรงค์เรียกร้องสิทธิของคนพิการ จาก จ.กาฬสินธุ์ ถึง กรุงเทพมหานคร รวมระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และสำนักงงาน ป.ป.ท. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตการจ้างงานคนพิการ และวางมาตรการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรัดกุมมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ยังแผนการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญ 7 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านคนพิการสู่การปฏิบัติ 2) โครงการบริหารจัดการด้านคนพิการ 3) โครงการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาอาชีพคนพิการ 4) โครงการส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ 5) โครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิคนพิการ 6) โครงการคุ้มครองสวัสดิภาพคนพิการ และ 7) โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรด้านคนพิการและเครือข่าย
ปี 2563 จึงเป็นความหวังว่าจะได้เห็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับคนทั้งมวล เพื่อสะท้อนถึงความมีอารยะทั้งในแง่ของการเท่าเทียมทางสังคมและสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง
พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส