วันนี้ (3 ม.ค.2563) นับเป็นวันที่ 3 สำหรับมาตรการงดให้ถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้า และร้านค้าสะดวกซื้อ ส่งผลให้ประชาชนต้องพกถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัว สำหรับใส่สิ่งของต่างๆ ขณะที่ห้างร้านก็ได้มีการเตรียมความพร้อมด้วยการจัดถุงผ้าไว้จำหน่ายสำหรับผู้ที่ไม่ได้เตรียมถุงผ้ามา โดยส่วนใหญ่เป็นถุงผ้าประเภทสปันบอร์น
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้เผยแพร่ข้อความระบุว่า มีผู้ผลิตถุงพลาสติก หลังไมค์มาบอกว่า
ตอนนี้ที่หลายๆ ห้างหันมาขายถุงผ้าประเภทสปันบอร์น แล้วอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะประชาชน รวมถึงห้างเองเข้าใจผิดหลายๆอย่างเกี่ยวกับถุงประเภทนี้
ถุงผ้าสปันบอนด์ ผลิตมาจากพลาสติกล้วนๆ เรียกอีกอย่างว่า non-woven พลาสติก ถุงที่เห็นขายๆ กันตามห้างราคาถูกๆ เป็นเกรด PP (เกรดเดียวกับพลาสติกทำถุงแกง) แต่ใช้การปั่นเป็นเส้นใยเล็กๆ แล้วอัดเป็นแผ่น (spun - ปั่นเป็นเส้นใย , bond - เชื่อมเป็นแผ่น)
สำหรับพลาสติกเกรด PP มีข้อเสียคือแพ้แสง UV ยิ่งเป็นเส้นใยพลาสติกเล็กๆ พอโดนแสงแดด ก็จะแตกตัวได้ง่ายขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเราเก็บถุงเอาไว้นานๆ หรือตากแดด พอมาจับอีกทีกลายเป็นผงไปแล้ว เมื่อผ้าสปันบอร์นแตกตัวแล้ว ก็คือ ไมโครพลาสติกชนิดหนึ่ง ดังนั้น ถุงสปันบอร์น ก็ไม่ต่างอะไรกับ oxo-plastic ที่รัฐประกาศแบนในปี 2562 ที่ผ่านมา
หากจะให้แนะนำ คือ ห้างควรทำถุงพลาสติกชนิดหนาขายแทน เพราะถุงพลาสติกหนาๆ ใช้ซ้ำได้เหมือนกัน เก็บนานๆ ก็ไม่แตกตัว หรือ ทำเป็นไซส์ใหญ่ถุงขยะไปเลยก็ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ต่อ ส่วนถ้าจะให้ใช้ซ้ำ ควรเป็นถุงผ้าจริงๆ มากกว่า เพราะใช้ได้นานกว่าเยอะ โดยโรงงานผลิตผ้าประเภทนี้อยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้นอกจากการงดแจกถุงจะทำให้โรงงานพลาสติกในประเทศได้รับผลกระทบ ของทดแทนยังต้องนำเข้าอีกต่างหาก
สอดคล้องกับ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong โดยระบุว่า กรณีไมโครพลาสติกจากผ้าสปันบอนด์ รู้หรือไม่ว่า อันตรายก็มากเพราะด้วยลักษณะที่ยุ่ยง่าย ทำให้ละลายในน้ำ ปะปนไปกับสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
สปันบอนด์แค่ถูกความร้อนก็กลายเป็นผง ออกเป็นไมโครพลาสติก และปะปนไปกับแหล่งน้ำ ปนปนไปอยู่ในตัวของสัตว์น้ำต่างๆ อย่างปลา และหากเรากินเข้าไป สารเหล่านี้ก็จะไปสะสมในร่างกาย และมีความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งได้