วันนี้ (6 ม.ค.2563) เฟซบุ๊กอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เผยข่าวดีว่า ค้นพบตัวละครลับ ปลากระเบนไฟฟ้าที่สิมิลัน โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2562 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้รับแจ้งจากกลุ่มนักดำน้ำว่า พบปลากระเบนไฟฟ้าบริเวณจุดดำน้ำ Deep six ที่ความลึก 27 เมตร ของเกาะปายู (เกาะ7) ซึ่งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้มอบหมายให้นายสุธีรชัย สมทา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลประจำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประสานผู้เชี่ยวชาญหาข้อมูล เพื่อจำแนกชนิดของปลากระเบนไฟฟ้าตัว
เบื้องต้นกำลังลุ้นอยู่ว่าจะใช่ปลากระเบนไฟฟ้า (Torpedo fuscomaculata) หรือไม่ เพราะถ้าเป็นปลากระเบนไฟฟ้า(Torpedo fuscomaculata) ก็จะเป็นการค้นพบสัตว์ทะเลชนิดใหม่อีกครั้งที่สิมิลัน
ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
แต่ถ้าหากเป็นปลากระเบนไฟฟ้า(Torpedo fuscomaculata) จริงคำถามต่อมาคือมันมาอยู่ที่สิมิลันได้อย่างไร เนื่องจากปลากระเบนไฟฟ้า ส่วนใหญ่พบอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงทะเลทางแถบแอฟริกาใต้ รวมถึงทะเลในแถบมัลดีฟส์ เป็นไปได้หรือไม่ที่การค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ IOD
สำหรับปลากระเบนไฟฟ้า เป็นปลากระเบนที่มีรูปร่างกลม จัดอยู่ในอันดับ Torpediniformes และมีอวัยวะคู่หนึ่งที่สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ ตั้งอยู่ทางด้านข้างของตาถัดไปถึงครีบอก ภายในมีสารเป็นเมือกคล้ายวุ้น ทำหน้าที่ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 200 โวลต์ กระแสไฟฟ้านี้ใช้เพื่อทำให้เหยื่อสลบหรือฆ่าเหยื่อ ปลากระเบนไฟฟ้าทั้งหมดมีรูปร่างแบนกลม ตามีขนาดเล็กมาก ส่วนหางแข็งแรง และไม่มีเงี่ยงหางแหลมคมเหมือนปลากระเบนในอันดับอื่น มีลำตัวหนาและอ่อนนุ่ม มีครีบหลัง 2 ตอน
โดยทั่วไปแล้วกระเบนไฟฟ้าชนิดนี้ยังไม่มีรายงานการถูกพบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่ก็มีโอกาสพบได้ในทะเลอันดามัน เนื่องจากรายงานการแพร่กระจายของกระเบนชนิดนี้อยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงทะเลทางแถบแอฟริกาใต้ รวมถึงทะเลในแถบมัลดีฟส์ที่เป็นที่นิยมของนักดำน้ำ
ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
ปลากระเบนไฟฟ้ามักหมกตัวอยู่ใต้พื้นทราย สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ได้หากเหยียบไปถูกเข้า ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชา หรือหมดสติ และอาจทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้
การป้องกันและรักษา หากทราบว่าในบริเวณใดมีปลากระเบนไฟฟ้าอาศัยอยู่ ควรหลีกเลี่ยงในการลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาได้มากถึง 30 แอมป์ ซึ่งมากเกินพอให้เสียชีวิตได้ในทันที แต่หากพบว่ามีนักดำน้ำถูกกระเบนไฟฟ้าจนหมดสติให้รีบนำผู้ป่วยขึ้นสู้ผิวน้ำทันทีและช่วยปฐมพยาบาลให้ผู้ป่วยหายใจ (CPR) แล้วนำส่งโรงพยาบาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เตือน "IOD" รุกคืบทะเลสิมิลันน้ำเย็นเฉียบ 23 องศาฯ
นักวิชาการ ระบุอาจมาจากปรากฎการณ์ IOD
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า มีข่าวพบกระเบนไฟฟ้าที่สิมิลันน่าจะเป็นครั้งแรกที่มีรายงานที่นั่น แต่ถ้าในเมืองไทย เคยมีผู้พบโดยเฉพาะในช่วงเกิดปรากฏการณ์น้ำเย็น IOD ตอนปี 2540 ก็เคยเจอที่ระนอง และริเชลิว
กระเบนหลายชนิดมีอวัยวะสร้างกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อใช้ช่วยในการล่าเหยื่อ แต่กระเบนกลุ่มหนึ่งมีอวัยวะพวกนี้พัฒนาเป็นพิเศษ เราเรียกว่าพวก Electric Ray มีอยู่ประมาณ 60 ชนิด
กระแสไฟฟ้าที่สร้างแรงพอควร ประมาณว่าใกล้เคียงกับไฟช็อตในน้ำ แต่ไม่ใช่กระเบนเจออะไรเป็นช็อต ไม่งั้นเป็นสัตว์ประหลาดแล้ว กระเบนไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ กลุ่มหนึ่งจะใช้ไฟฟ้าช่วยในการจับเหยื่อ อีกกลุ่มยังไม่แน่
นอกจากนี้ ยังใช้ไฟฟ้าเพื่อป้องกันตัวมีรายงานคนโดนชอตมาตั้งแต่อดีต (ในต่างประเทศ) แต่เป็นชาวประมงที่ไปจับพวกเขา ปกติกระเบนพวกนี่ไม่ว่ายไล่ช็อตใคร ต้องไปโดนหรือเข้าใกล้จนเขาตกใจ
ในเมืองไทย ไม่เคยมีรายงานว่ามีใครโดนกระเบนไฟฟ้าทำร้าย เพราะเขามีน้อยมาก นานๆ เจอทีในวาระพิเศษ เช่น คลื่นน้ำเย็นที่เกิดจาก IOD ปกติดำน้ำตื้นโอกาสเจอยากมาก หากดำน้ำลึกในช่วงนี้ เมื่อเจอก็แค่ตั้งหลักดู อย่าเข้าไปใกล้เกินเหตุหรือคิดจับต้อง แค่นั้นก็ปลอดภัย อันที่จริง จะเป็นกระเบนชนิดอื่นก็ควรทำเหมือนกัน สัตว์ทะเลยากที่จะทำร้ายเรา หากเราไม่คิดไปยุ่งเกี่ยวกับพวกเขาเกินเหตุครับ