ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วันครู" ของเด็กข้ามชาติ

ไลฟ์สไตล์
16 ม.ค. 63
16:47
983
Logo Thai PBS
"วันครู" ของเด็กข้ามชาติ
16 ม.ค. "วันครู" ของศิษย์หลาย ๆ คน ที่คงจะหมายถึง "วันครู" ของเด็กข้ามชาติ หรือลูกหลานแรงงานเคลื่อนย้ายในประเทศไทยด้วย "ศศิธร สุขบท" คุยกับ "ต่าย จารุวรรณ" แห่งมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก ถึงเส้นทางวิบากของเด็กข้ามชาติ แม้ไทยจะมีนโยบายการศึกษาเพื่อทุกคนก็ตาม
เชื่อว่า ทัศนคติของครู เปลี่ยนการศึกษาได้

"ต่าย" จารุวรรณ ไพศาลธรรม คือ นักขับเคลื่อนการศึกษาเด็กชายขอบ ของ มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก อันมีฐานที่ตั้งใน จ.เชียงใหม่

ปี 2020 ก้าวสู่ปีที่ 16 ของการทำงานด้านนี้ เธอตั้งมั่นที่จะมาพบปะมิตรสหาย ซึ่งประกอบไปด้วยนักขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่หลากหลาย ในชุมชนแห่งการเรียนรู้ "มหาลัยเถื่อนปี 7" ที่ Makhampom Art Space อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


ช่วงสายของ วันครูแห่งชาติ 16 ม.ค.2563 เธอเก็บความกลัว เปิดความกล้า ขึ้นหน้าห้อง นำประเด็นที่อยากเปลี่ยนแปลง อย่าง "การศึกษาเด็กชายขอบ" โดยเจาะจงไปที่การศึกษาของเด็กข้ามชาติเข้ามาแลกเปลี่ยนในเวที เถื่อนทอล์ก 

เธอบอกว่า จากการที่มูลนิธิฯ ได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายตามจังหวัดชายแดนต่าง ๆ และงานวิจัยอีกชุดของยูนิเซฟ พบว่า ปี 2562 สถานการณ์การเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2542 ซึ่งเป็นทศวรรษแรกของการปฏิรูปการศึกษาไทย

แต่ก็ยังมีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ที่คาดการณ์ว่า มีมากกว่า 200,000 คน


เมื่อถามต่อไปว่า "200,000 คน ถือเป็นขนาดที่ใหญ่แค่ไหน หากวัดจากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในไทย เท่าที่นับได้ร่วม 2 ล้านคน" เธอบอกว่า

ถ้าเทียบกับเด็กไทยที่ได้เรียนก็ถือว่าเยอะ ประเทศเรามีนโยบายสอดรับสากลเรื่องการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน หรือ Education for all แต่เส้นทางการศึกษาของเด็กข้ามชาติ ไม่ง่ายเลย

ถอดคำอธิบายง่าย ๆ จากเธอ ได้ความว่า ทางวิบากในเส้นทางการศึกษาเด็กข้ามชาติ มี 3 ข้อ

  1. เด็กอยู่กับพ่อแม่ ในไซต์งานก่อสร้าง โกดัง ชุมชนคนงาน แต่ไม่ได้เรียนรู้จากทัศนคติครอบครัว ที่มีความกลัวด้านเศรษฐกิจ เพราะการเข้าเรียนมีราคาที่ผู้ปกครองต้องจ่าย และทัศนคติที่ว่า โตมาไม่เรียน ก็หาเงินได้เหมือนพ่อแม่
  2. เด็กเข้าเรียนในศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ ที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ลูกหลานมีการศึกษา กรณีนี้ มีบางศูนย์จัดการเรียนการสอนร่วม 20 ปี แต่ต้องยุติบทบาท เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่าผิดกฎหมาย ครูผู้สอนยื่นเรื่องเข้าไทยเพื่อเป็นแรงงาน แต่กลับมาทำหน้าที่ครู ทำให้ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติที่กระจายตัวกันร่วม 100 แห่ง ตกอยู่ในสภาวะสั่นคลอน
  3. เด็กเข้าเรียนโรงเรียนไทย กรณีนี้ มีเงินอย่างเดียวใช่ว่าจะเข้าได้ ต้องมีทัศนคติที่ดี และความเข้าใจเรื่องความเป็นมนุษย์จากโรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษาด้วย เนื่องจากทุกวันนี้ แม้กฎหมายจะระบุให้เด็กไม่ว่าเป็นใครที่ไหน สามารถเข้าเรียนโรงเรียนไทยได้หมด แต่ยังพบการถูกปฏิเสธ
ถ้าเด็กคนหนึ่งมีสิทธิ์เลือกเรียนที่ใดก็ได้ มันน่าจะดีต่อชีวิตเขา เพราะเด็กที่ยังไม่รู้ว่าพ่อแม่จะได้กลับบ้านตอนไหน ยังติดหล่มทัศนคติสังคมที่ตีตราว่า คนข้ามชาติ เป็นคนหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แบบเหมารวม


เธอทิ้งท้ายในเวทีเถื่อนทอล์กด้วยการชวนมิตรสหาย หาแนวทางช่วยกันเคลื่อนประเด็นนี้ให้ถึงฝัน

เราอยากทำงานเรื่องทัศนคติสังคมกับกลุ่มชายขอบ เพราะทัศนคติมันนำไปสู่การปฏิบัติ ถ้ามีทัศนคติที่ไม่ดีกับคนกลุ่มหนึ่ง มันทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

 

ถ้าเราสามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนได้ ว่าเด็กก็คือเด็ก เป็นเด็กเหมือนกัน เราจะทำยังไงให้เขาอยู่ร่วมในสังคม ในห้องเรียนด้วยกันได้อย่างมีความสุข เพราะเรารู้ว่าการทำงานกับทัศนคติมันยาก

"มหาลัยเถื่อน" ผลัดกันเรียน เปลี่ยนกันสอน

ม.เถื่อน หรือ มหาลัยเถื่อนปี 7 เปรียบเหมือนกิจกรรม Reunion ของมิตรสหาย โดยเฉพาะนักขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่าง ๆ ที่กลับมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ถึงการเติบโตของแต่ละคน แลกเปลี่ยนแนวคิดการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ และช่วยกันสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในการเดินหน้าต่อด้วยรูปแบบ "ผลัดกันเรียน เปลี่ยนกันสอน" ลงลึกข้ามศาสตร์ เพื่อเติมเต็มกันและกัน บนพื้นที่ของ Makhampom Art Space (มูลนิธิสื่อชาวบ้าน) ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2563

 

ศศิธร สุขบท : ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง