วันนี้ (2ก.พ.2563) พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธศาสดาประชานาถ (พิธีแบบล้านนา) ซึ่งกองทัพอากาศจัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การทิวงคต จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ โดยมี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสิทธิ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ณ บริเวณจุดชมวิว สถานีรายงานดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศ ได้จัดพิธีพุทธาภิเษก ในวันนี้( 2 ก.พ. 63) นอกจากเป็นตัวเลขที่สวยงามคือ 02.02.2020 แล้ว หากย้อนไปเมื่อ 100 ปีก่อน ยังตรงกับวันที่พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ ทรงทำการบินเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การทิวงคตของพระบิดาแห่งกองทัพอากาศในปีนี้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่กองทัพอากาศจะได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ
กองทัพอากาศได้เตรียมจัดสร้างสถานที่ประดิษฐานพระพุทธศาสดาประชานาถ บนดอยอินทนนท์ บริเวณจุดที่มีความสูงกว่า 8,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล เพื่อให้ประชาชนและพุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา โดยได้ให้กรมช่างโยธาทหารอากาศออกแบบจัดสร้าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 8 เดือน
ความสำคัญของสถานที่ประดิษฐานคือสูงสุด ศักดิ์สิทธิ์สู่ศรัทธา ส่งบุญไปสู่สรวงสวรรค์
ทั้งนี้ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ทรงริเริ่มจัดระเบียบการทัพแบบยุโรป เพื่อให้กองทัพสยามเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ทรงก่อตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก อันขยายผลต่อยอดมาเป็นโรงเรียนเสนาธิการทหารทุกเหล่าทัพ
ที่สำคัญยิ่งพระองค์ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งแผนกการบิน อันพัฒนาก้าวหน้ามาเป็น “กองทัพอากาศ” ดังเช่นปัจจุบัน กองทัพอากาศจึงได้เทิดพระเกียรติพระองค์เป็น “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ”
โดยพระพุทธรูปบูชาที่กองทัพอากาศจัดสร้างครั้งนี้ องค์พระประธานจะอันเชิญประดิษฐาน ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของประเทศ เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นพระกุศลแด่พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ อีกทั้งเพื่อให้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่จัดสร้างขึ้นเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา เป็นสิริมงคล เกิดอานิสงส์ผลบุญ และเป็นสะพานบุญให้กำลังพลตลอดจนประชาชนที่ได้ร่วมจิตศรัทธาประสบผลสำเร็จในชีวิตอันสูงสุดต่อไป
การจัดสร้างพระพุทธรูปบูชาของกองทัพอากาศนั้น ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานนามว่า “พระพุทธศาสดาประชานาถ” แปลว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน” อีกทั้งประทานแผ่นทอง เงิน นาก พร้อมด้วยพระบรมสารีริกธาตุ และทรงรับเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อการจัดสร้างพระพุทธศาสดาประชานาถ ให้มีความศักสิทธิ์เปี่ยมไปด้วยพุทธคุณ
พระพุทธศาสดาประชานาถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร อันหมายถึง ความตั้งมั่นแห่งปัญญาและการตรัสรู้ขั้นสูงสุด มีพระพุทธลักษณะที่ผสมผสานศิลปะ 4 ยุค 4 อาณาจักรของไทย ได้แก่ ล้านนา สุโขทัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นชาติไทยได้อย่างกลมกลืน
พระพุทธศาสดาประชานาถ องค์พระประธาน ขนาดหน้าตัก 20.20 นิ้ว เป็นเนื้อทศโลหะ อันเกิดจากเนื้อนวโลหะแท้ หลอมรวมกับไททาเนียมของกองทัพอากาศ การจัดทำเนื้อทศโลหะ (โลหะ 10 ชนิด) นับเป็นครั้งแรกของการจัดสร้างพุทธรูปอีกทั้งจำนวนโลหะ 10 ชนิด เป็นเลขแห่งรัชสมัยพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ไททาเนียมที่กองทัพอากาศนำมาผสม เป็นโลหะที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน ทนความร้อนสูง มีน้ำหนักเบา เป็นโลหะหลักที่นิยมใช้กับโครงสร้างอากาศยาน นอกจากนี้ยังใช้ทองเหลืองจากปลอกกระสุนปืนอากาศของเครื่องบินขับไล่กองทัพอากาศ ซึ่งมีเนื้อทองเหลืองคุณภาพดีที่สุด เป็นมวลสารทองเหลืองที่ผ่านความเร็วเหนือเสียงในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ของกองทัพอากาศ