ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เผาไร่อ้อย" ประเทศไทย บอกอะไรได้บ้าง?

สิ่งแวดล้อม
3 ก.พ. 63
09:22
2,674
Logo Thai PBS
"เผาไร่อ้อย" ประเทศไทย บอกอะไรได้บ้าง?
ไปดูกันว่าการเผาไร่อ้อยในประเทศไทยสามารถบอกอะไรได้บ้าง หลังจากรัฐบาลประกาศใช้มาตรการทางกฎหมายกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยที่มาจากการเผาก่อนตัดไม่เกินร้อยละ 30 เมื่อกลางปี 2562 แต่สุดท้ายกลายเป็นรับซื้อร้อยละ 50

วันนี้ (3 ก.พ.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเผาไร่อ้อยในปัจจุบัน คือการเผาวัชพืชและกาบใบอ้อย เพื่อให้เกิดความสะดวกก่อนตัดลำอ้อย หรือเผาก่อนตัด ซึ่งเมื่อกลางปี 2562 รัฐบาลระบุว่าจะใช้ "มาตรการทางกฎหมาย" กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยที่มาจากการ "เผาก่อนตัด" หรืออ้อยที่ถูกไฟไหม้ ได้ไม่เกินร้อยละ 30 ในปีการผลิต 2562/2563 ขณะที่ชาวไร่เริ่มตัดอ้อยและโรงงานน้ำตาลเปิดหีบ เมื่อต้นเดือน ธ.ค.2562

ดังนั้น โรงงานน้ำตาลต้องรับซื้ออ้อยที่เก็บเกี่ยว หรือตัดลำอ้อยมาจากไร่ที่ไม่เผาไฟ ซึ่งเป็นอ้อยสด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 และแปลว่ายังคงยินยอมให้มีการเผาไร่อ้อยถึงร้อยละ 30 ซึ่งยังนับว่าไม่น้อย แต่ถือว่าเป็นความก้าวหน้าพอสมควร เพราะตลอดเวลายาวนานที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลประเทศไทย มีสัดส่วนการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ หรือเผาก่อนตัด มากกว่าอ้อยสด หรือการตัดอ้อยโดยไม่เผาไร่

 

โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้ ร้อยละ 50

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวัน "เปิดหีบ" ประจำปีการผลิต 2562/2563 ปรากฏว่าด้วยพลังยื้อยุดของฝ่ายที่อ้างเหตุ "จำเป็นต้องเผา" ทำให้มาตรการ 70:30 อ่อนแรงมาเป็น 50:50 หมายถึงลดหย่อนให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยไฟไหม้จากการเผาไร่ได้ถึงร้อยละ 50 โดยเพิ่มจากร้อยละ 30 ที่กำหนดไว้เมื่อกลางปี 2562 ดังนั้น แปลว่าปีการผลิตปัจจุบัน หรือปีการผลิต 2562/2563 ที่เริ่มเปิดหีบต้นเดือน ธ.ค.2562 ไร่อ้อยแห่งประเทศไทย จะลุกโชนโชติช่วงด้วยเปลวเพลิงถึงร้อยละ 50 เป็นอย่างน้อย

ที่ระบุว่า"ร้อยละ 50 เป็นอย่างน้อย" เพราะยังไม่มีอะไรทำให้เชื่อได้สนิทใจว่าจะไม่มีการเผาเกินร้อยละ 50 ถ้ามี "อ้อยไฟไหม้" ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ย่อมหมายความว่าต้องมีการเผาไร่อ้อยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ไร่อ้อยที่ต้องลุกโชนโชติช่วงด้วยเปลวเพลิงในปีการผลิต 2562/2563 จะเป็นเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล มโหฬารขนาดไหนกัน ?

 

ปีการผลิตปัจจุบัน มีการเผาไร่อ้อย 6 ล้านไร่

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล คาดว่า ณ ปีการผลิต 2562/2563 จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ จำนวน 11,464,989 ไร่ ขณะที่ปีการผลิต 2561/2562 มี 12,236,074 ไร่ นั่นแปลว่าอย่างน้อยๆ ปีการผลิตปัจจุบัน จะมีการเผาไร่อ้อยเป็น "พื้นที่" ประมาณ 6 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ขนาด 6 ล้านไร่ มีความกว้างใหญ่ขนาดไหน ? พื้นที่ 625 ไร่ เท่ากับ 1 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น พื้นที่ 6 ล้านไร่ ก็ย่อมเท่ากับ 9,600 ตารางกิโลเมตร

พื้นที่เท่ากับ กทม. 6 เท่า หรือ จ.นครสวรรค์

พื้นที่ 9,600 ตารางกิโลเมตร กว้างใหญ่ขนาดไหนล่ะ ? กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,568.737 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น พื้นที่ 9,600 ตารางกิโลเมตร ก็เท่ากับพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเป็น "6 เท่า" ของกรุงเทพฯ หรือ จ.นครสวรรค์ มีพื้นที่ 9,597.677 ตารางกิโลเมตร และ จ.สกลนคร มีพื้นที่ 9,605.764 ตารางกิโลเมตร

 

 

ดังนั้น 9,600 ตารางกิโลเมตร ก็ใกล้เคียงกับพื้นที่ จ.สกลนคร ทั้งจังหวัด หรือกว้างใหญ่กว่าพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ทั้งจังหวัด แปลว่าในฤดูกาลตัดอ้อยปีนี้ ซึ่งเริ่มจากเดือน ธ.ค.2562 ประเทศไทยจะเกิดการเผาไร่อ้อยเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ อย่างน้อยเท่ากับพื้นที่ 6 เท่าของกรุงเทพฯ หรือราวๆ พื้นที่ จ.สกลนคร ทั้งจังหวัด หรือกว้างใหญ่กว่าพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ทั้งจังหวัด

ไม่มีอะไรยืนยันจะไม่เกิดการเผาไปมากกว่านี้

ส่วนที่ย้ำว่า "เป็นอย่างน้อย" เพราะยังไม่มีอะไรทำให้เชื่อว่าจะไม่เผามากกว่านี้ และที่บอกว่า "เป็นอย่างน้อย" เพราะที่ฝ่ายต่างๆ พูดๆ เรื่องการเผาไร่อ้อยตลอดมานั้น จำเพาะเจาะจงไปที่การ "เผาก่อนตัด" เท่านั้น ยังไม่รวมถึงการ "เผาหลังตัด" ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า "อ้อยสด" หรืออ้อยที่ไม่เผาไร่ ก่อนตัดลำนั้น ภายหลังการตัดลำอ้อยแล้ว ได้จัดการวัชพืชและกาบใบอ้อยกันอย่างไร มีกี่ไร กี่แปลง ที่ฝังกลบเป็นปุ๋ย มีกี่ไร่ กี่แปลง

 

 

นอกจากนี้ การนำกาบใบอ้อยไปใช้ประโยชน์อื่นใด และมีกี่แปลง กี่สิบ กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนไร่ ที่ลงเอยด้วยการเผา สำหรับประเด็นนี้ค่อยว่ากันวาระต่อๆ ไป ส่วนตอนต่อไปจะว่าด้วยการเผาไร่อ้อยก่อนตัดแต่ละปีนับจากอดีต และสืบสาวมาตรการแก้ หรือไม่แก้ปัญหา

ติดตาม 5 จังหวัด ต้นแบบ "ปลอดการเผาอ้อย"

เมื่อกลางปี 2562 นอกจากรัฐบาลบอกว่าจะใช้ "มาตรการทางกฎหมาย" แก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยตามที่กล่าวข้างต้น รัฐบาลยังบอกว่าจะใช้ "มาตรการขอความร่วมมือด้านบริหารจัดการ" อีกด้วย โดยมีเป้าหมายให้ปีการผลิต 2562/2563 หรือคือฤดูเปิดหีบ-ตัดอ้อย ปัจจุบัน ไร่อ้อยใน 5 จังหวัด เป็นพื้นที่ต้นแบบ "ปลอดการเผาอ้อย" หรือเป็นพื้นที่ "ตัดอ้อยสด 100%" ประกอบด้วย 1. จ.กาญจนบุรี 2. จ.ราชบุรี 3. จ.อุตรดิตถ์ 4.จ.ชัยภูมิ และ 5 จ.เลย แล้วติดตามกันดูต่อว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างใน 5 จังหวัดนี้

ภัทราพร ตั๊นงาม รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง