เป้าใหญ่ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่เข้าสู่การเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ต่อจากรัฐบาล คสช.
ประเด็นต่อเนื่องที่จะถูกหยิบยกมาอภิปราย หนีไม่พ้นกรณีที่ ช่อ-พรรณิการ์ วาช แกนนำ “คณะอนาคตใหม่” และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เปิดการอภิปรายนอกสภาฯ กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ “ช่วยปิดปากพยาน-ให้ที่กบดานอาชญากรข้ามชาติ”
กล่าวหา “ประยุทธ์” อุ้มเครือข่ายทุจริต 1MDB
ช่อ-พรรณิการ์ กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจช่วยเหลือ นาจิบ ราซัก อดีตนายกฯ มาเลเซีย กรณีช่วยปิดปากพยานปากสำคัญในคดีทุจริตกองทุน 1MDB และให้การช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว
โดยอธิบายว่า รัฐบาล คสช.เข้าสู่อำนาจตั้งแต่ ปี 2557 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนาจิบ ตั้งแต่ปี 2558 ในฐานะ “พันธมิตรมืด” เพราะไทยเป็นตัวเลือกที่ดีในเวลานั้นเนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
จุดตั้งต้นของคดีนี้เริ่มจาก ปี 2558 กองทุน 1MDB ถูกเปิดโปงว่ามีการยักยอกทรัพย์ของกองทุนเข้าสู่บัญชีของนาจิบ เมื่อครั้งเป็นนายกฯ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท
ผู้ที่เปิดโปงคดีนี้ คือ “ชาเบียร์ ฆุตโต” อดีตผู้บริหารบริษัทปิโตรซาอุดี เป็นบริษัทที่ช่วยฟอกเงิน และ “แคล บราวน์” (น้องสะใภ้นายกฯอังกฤษ) ผู้รับข้อมูลจากชาเบียร์ ตีพิพม์ข้อมูลใน The Sarawak Report ภายหลังการเปิดโปงดังกล่าว แคล บราวน์ ตัดสินใจกลับไปที่อังกฤษ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ขณะที่ ชาเบียร์ เลือกลงหลักปักฐานที่เกาะสมุยในประเทศไทย พร้อมกับภรรยาและลูก
1.”ช่อ” กล่าวหารัฐบาลไทยช่วยปิดปากพยาน
ระหว่างชาเบียร์อยู่ที่ประเทศไทย ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาพยายามเรียกทรัพย์สินเอกชนแห่งหนึ่ง โดย ช่อ–พรรณิการ์ กล่าวหาว่าตำรวจพยายามปิดกั้นการเข้าถึงชาเบียร์ และเปิดโอกาสให้บริษัทปิโตรซาอุดี ซึ่งเป็นบริษัทช่วยฟอกเงินควบคุมคดีนี้ โดยมีหลักฐาน ดังนี้
- สื่อต่างชาติตีแผ่ “อีเมล” ของสำนักงานทนายความ ที่รับว่าความให้กับบริษัทปิโตรซาอุดี ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาชื่อ “พอล ฟินนิแกน” ส่งมาร่วมการสอบสวนคดีกับทางการไทย เพื่อบีบบังคับให้ชาเบียร์รับสารภาพ ขณะที่ทางการไทยอ้างว่าพอล เป็นตำรวจที่อังกฤษส่งมาร่วมการสอบสวน
- บทสนทนาผ่าน WhatApp ระหว่างภรรยาของชาเบียร์ และตัวแทนของสำนักงานทนายความ โดยตัวแทนของสำนักงานทนายความอ้างว่ามีอำนาจควบคุมการเข้าเยี่ยมชาเบียร์ ซึ่งเวลาต่อมาข้อมูลนี้ได้รับการรับรองจากศาลสวิตเซอร์แลนด์ว่าเป็นความจริง
- บทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างภรรยาของชาเบียร์และ พ.ต.อ.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก เจ้าของคดี ว่ารู้จักกับพอล ที่ปรึกษาของบริษัทปิโตรซาอุดีเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามสุดท้าย ชาเบียร์ ยอมรับสารภาพเพื่อแลกกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังสวิตเซอร์แลดน์ แต่กระบวนการล่ม เมื่อนาจิบมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2559
2.”ช่อ” กล่าวหารัฐบาลไทยให้ที่กบดาน “อาชญากรข้ามชาติ”
กรณีการทุจริตกองทุน 1MDB มีผู้ถูกกล่าวหาที่รัฐบาลสิงคโปร์ต้องการตัว ชื่อว่า “โจ โล” หรือ โลเตี๊ยกโจ นักธุรกิจเชื้อสายจีน ซึ่งสนิทกับนาจิบ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ประสานกับตำรวจสากลเพื่อขอส่งตัวไปยังเครือข่ายประเทศที่มีสนธิสัญญานี้ แต่กลับพบว่า นับแต่มีประกาศจนถึง 13 พ.ค.2561 โจ โล เข้า-ออกประเทศไทยถึง 5 ครั้ง
เอาคนบริสุทธิ์เข้าคุกเพื่อปิดปาก แต่กลับปล่อยให้คนที่มีหมายแดงจากอินเตอร์โพลลอยนวล ใช้ไทยเป็นที่กบดานนานหลายปี
“จากพยานหลักฐานและข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งหมดทำให้เชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้มีอำนาจสั่งกาข้ามกระทรวงทุกกระทรวง ตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองฯ ให้ความร่วมมือปกปิดข้อเท็จจริงของคดีปล้นเงินชาวมาเลเซียครั้งใหญ่”
ที่ดินพ่อ “ประยุทธ์”
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษเฉพาะกิจฯ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าเตรียมส่งข้อมูลให้ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นการซื้อขายที่ดินพ่อของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2556 เอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัวชื่อดังของประเทศไทย
ข้อมูลที่ตรวจสอบพบว่า ปี 2556 บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซื้อที่ดิน พ.อ.ประพัฒน์ จันทร์โอชา พ่อของพล.อ.ประยุทธ์ ย่านบางบอน ที่มีราคาประเมินอยู่ที่ 197.5 ล้านบาท แต่มีการซื้อขายราคาสูงถึง 600 ล้านบาท
โดยตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทนี้ถูกตั้งก่อนซื้อเพียง 7 วัน และมีผู้ก่อตั้งหลัก 2 คน ซึ่งทั้งคู่ยังถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ ร่วมกัน 22 บริษัท หนึ่งในนั้นเป็นบริษัทของ "เจ้าสัวชื่อดัง" ของประเทศไทย และบริษัทดังกล่าวได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาล คสช. ด้วย
นายกฯ ไม่ใช่ผู้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ระหว่างที่มีการตั้งหัวข้อโดย ร.ต.อ.เฉลิม แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตและโต้แย้ง คือ ไพศาล พืชมงคล ที่ปรึกษาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ
1.พ่อของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ขาย ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์
2.ซื้อขายปี 2556 ก่อนการรัฐประหาร
3.ราคาที่ดินที่ขายย่อมสูงกว่าราคาประเมิน
4.ราคาซื้อขายเท่าใดขึ้นอยู่กับการตกลง
5.”บริษัทคุณเจริญ” ซื้อที่ดินแล้วจะพัฒนาหรือลงอย่างไรไม่เกี่ยวกับพล.อ.ประยุทธ์
6.ช่วงที่มีการซื้อขายไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกฯ
อย่างไรก็ตามประเด็น “ที่ดินพ่อ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอย่างแน่นอน
รัฐประหารโดย คสช. และ “นายกฯ กร่าง”
ประเด็นเดิมที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกมาอภิปราย หนีไม่พ้นการเข้าสู่อำนาจ ย้อนไปตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กระทั่งการเลือกตั้ง ปี 2562 โดยรายละเอียดต่างๆ ฝ่ายค้านเขียนเป็นหัวข้อและหลักการในเอกสาร 13 หน้า
ที่ยื่นเป็นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาฯ ดังนี้
- ไม่ยึดมั่นศรัทธาระบอบประชาธิปไตย
- ละเมิดหลักนิติธรรม สิทธิเสรีภาพของบุคคล
- เป็นผู้ที่กร่างเถื่อน มองคนเป็นศัตรู
- ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์พวกพ้อง
- ใช้งบฯ สร้างคะแนนนิยมให้ตนเองและพรรคการเมืองบางพรรค
- ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์มากกว่าปัญหาปากท้องของประชาชน
ฯลฯ
อย่างไรก็ตามประเด็นการใช้ถ้อยคำ “กร่างเถื่อน” ฝ่ายค้านรับปากว่าจะไม่ใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้การอภิปรายเดินหน้าต่อไปได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะต้องถูกคัดค้านจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ประเด็นการเข้าสู่อำนาจที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ “ฉีกรัฐธรรมนูญ” ประเด็นนี้จะถูกนำมาอภิปราย โดยเลี่ยงใช้ถ้อยคำที่จะไม่ทำให้การอภิปรายสะดุดเช่นกัน
ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงข้อสังเกตส่วนหนึ่งที่น่าจะมีการหยิบยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าจับตาว่าฝ่ายค้านจะมี “ข้อมูลลับ” หรือ “ข้อมูลใหม่” ที่จะใช้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ อีกหรือไม่
ทั้งนี้เสียงของสภาฯ ในขณะนี้ แม้เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จะมีมากกว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน เกือบ 40 เสียง แต่การเปิดข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตหรือการใช้อำนาจมิชอบจะนำมาสู่การตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ และมีผลต่อความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ ระยะยาวด้วย