ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักลงทุนชาวจีนได้ขยายการลงทุนทำเกษตรแปลงใหญ่ตามเส้นทางถนนอาร์สามเอ โดยเช่าพื้นที่และจ้างแรงงานใน สปป.ลาว เพื่อส่งออกไปยังจีน แรงงานสวนแตงโมในเมืองเวียงพูคา แขวงหลวงน้ำทา เล่าว่า ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมามีกลุ่มนักลงทุนชาวจีน เข้ามาลงทุนปลูกแตงโม โดยเช่าพื้นไร่ละ 4,000 - 5,000 บาท เพื่อปลูกแตงโมงส่งออกผ่านถนนอาร์สามเอ ส่งออกผ่านด่านบ่อหาน ไปยังประเทศจีน ซึ่งมีความต้องการจำนวนมาก
(ภาพ : สวนแตงโม เกษตรแปลงใหญ่ในเมืองเวียงพูคา แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว)
ปกติชาวบ้านต้องเดินทางไปทำงานในเมือง หรือต่างประเทศ แต่การเข้ามาลงทุนของคนจีน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้วันละ 200-250 บาท ใครที่มีที่ดินก็ให้เช่าปีต่อปีทำให้มีรายได้มากขึ้น
ส่วนที่แขวงหลวงน้ำทา พบสวนยางพารา จำนวนนับแสนไร่ โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ท่างทางตอนเหนือของเมืองหลวงน้ำทา บอกว่า เกือบ 18 ปีแล้ว ที่ทุกครัวเรือนปลูกยางพารา เป็นอาชีพหลัก โดยแรกๆ ราคายางจะสูงถึงกิโลกรัมละ 70 บาท แต่ปัจจุบันมีการปลูกยางพารามาก ทำให้ขายเหลือเพียงกิโลกรัมไม่ถึง 20 บาท ซึ่งจะมีพ่อค้าชาวจีนมารับซื้อถึงสวน จากนั้นจะไปแปรรูปโรงงานยางพาราขนาดใหญ่ 3 แห่ง ในเมืองหลวงน้ำทา ที่เป็นของชาวจีนทั้งหมด ก่อนส่งออกไปขายยังประเทศจีน
ราคายางจะขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนจีนเป็นคนกำหนด แต่การปลูกยางพาราแทบไม่มีต้นทุน เพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ย และยา มีเพียงลงแรงเท่านั้น หากใครมีสวนเยอะก็จ้างแค่ค่าแรงงานวันละ 5,000-6,000 กีบ หรือตกวันละ 200-300 บาท
นอกจากนั้นในพื้นที่เขตเมืองสิง ในแขวงหลวงน้ำทา ยังพบการขยายพื้นที่ปลูกอ้อย เพื่อส่งออกไปผ่านยังประเทศจีน ผ่านด่านพรมแดนชั่วคราวปางไฮ ด่านนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเพราะจะสามารถเชื่อมโยงจากทางเรือจากแม่น้ำโขง และผ่านสะพานเชียงราบ พรมแดนเมียนมา เข้าสู่ สปป.ลาว ส่งไปพรมแดนจีน และยังพบการเตรียมลงทุนของชาวจีน สร้างด่านกักกันสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งประเทศจีนกำหนดโควตาให้วัว ควาย ฯลฯ สามารถนำเข้าที่ด่านแห่งนี้ปีละกว่า 5 แสนตัว
(ภาพ : เมืองสิง แขวงหลวงน้ำทา ขยายพื้นที่ปลูกอ้อย รองรับความต้องการโรงงานในจีนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา)
ขณะที่แขวงบ่อแก้ว ที่มีพรมแดนติดกับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ยังพบการลงทุนของชาวจีนทำเกษตรแปลงใหญ่ เช่นการปลูกกล้วยหอม บนเนื้อที่กว่าหลายหมื่นไร่ในช่วง 6-8 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเริ่มลดพื้นที่ปลูกเนื่องจากต้องดูแล และใช้น้ำค่อนข้างมาก ทำให้นักลงทุนชาวจีน เริ่มหันมาลงทุนปลูกพืชตระกูลถั่ว ในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ เช่น ถั่วฝักยาว โดยจ้างแรงงานท้องถิ่นดูแล และเก็บ จากนั้นจะส่งออกไปขายยังจีนวันละหลายคันรถ ผ่านถนนอาร์สามเอ
(ภาพ : สวนกล้วยที่พบเห็นได้ทั่วไปในแขวงบ่อแก้ว และทุนจีนกำลังขยายปลูกถั่วชนิดต่างๆ ส่งออกไปยังจีน)
ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ผู้อำนวยการศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า แม้จีนจะเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าไทยมากกว่า 20 เท่า แต่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ และมีประชากรจำนวนมาก การเพาะปลูกในจีนต้องเลี้ยงประชากรนับพันล้านคน จึงมีความต้องการสินค้าเกษตรนำเข้าเป็นจำนวนมาก การลงทุนเกษตรในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ที่มีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนาน และมีพื้นที่เพาะปลูก และแรงงานจำนวนมาก จึงเกิดการลงทุน และส่งเสริมจากรัฐบาลกลาง ผ่านการพัฒนาในรูปแบบพัฒนาเมือง และคมนาคมเชื่อมประเทศในอาเซียนตามนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) และกำหนดโควตาสินค้านำเข้าแต่ละพรมแดนจีน เพื่อให้สิทธิพิเศษทางการค้าประเทศที่มีพรมแดนติดจีน
( ภาพ : ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ผอ.ศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี (CAMT) ม.เชียงใหม่ )
ผู้อำนวยการศูนย์ China Intelligence Center ยังได้กล่าวถึงอนาคตของถนนอาร์สามเอว่า แม้จะมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าจากจีนลงไปสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว และแม้จะไม่ผ่านพื้นที่แขวงบ่อแก้ว และพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย แต่อนาคตถนนอาร์สามเอ ที่เชื่อมระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน จะยังคงความสำคัญ เพราะทางจีนเตรียมก่อสร้างทางด่วนเพื่อร่นระยะทางขนผ่านสินค้า ซึ่งจีนยังให้ความสำคัญกับเส้นทางนี้ และยังมีการลงทุนสร้างเมืองใหม่ของกลุ่มทุนจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ บ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา และ ต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว และยังมีโครงการสร้างเมืองที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจีนสร้างเมืองใหม่ ตั้งแต่นครคุนมิง สิบสองปันนา เมืองล้า และต้นถนนถนนอาร์สามเอ ที่บ่อหาน และปลายถนนอาร์สามเอ เชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ตรงข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย
(ภาพ : จีนลงนามกับทางการ สปป.ลาว ก่อสร้างทางด่วนแนวถนนอาร์สามเอแห่งใหม่)
สำหรับถนนอาร์สามเอ ล่าสุด จีนจะมีการก่อสร้างทางด่วนระหว่างเมืองห้วยทราย ถึงบ่อหาน พรมแดนจีนแล้วเสร็จ จะทำให้การเดินทางบนถนนอาร์สามเอ มีระยะทางเหลือเพียงระยะทาง 180 กิโลเมตร ก่อสร้างสะพาน และเจาะผ่านภูเขา โดยใช้เทคโนโลยีจีนทั้งหมด ทำให้ขนส่งสินค้าจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาที จากเดิมที่ถนนอาร์สามเอ มีระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางปัจจุบัน 4 ชั่วโมง คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่านถนนอาร์สามเอ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว