วันนี้ (21 เม.ย.2563) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข ถึงเรื่องการจ่ายค่าตรวจและสิทธิต่างๆ ปรับปรุงล่าสุด ว่า สปสช.ออก 7 มาตรการ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้แก่
- จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยรายเก่าทางไปรษณีย์ โดยใช้งบสนับสนุนจากกองทุนบัตรทอง อัตราครั้งละไม่เกิน 50 บาท
- ขยายร้านขายยาเป็น "โครงการรับยาใกล้บ้าน" เพื่อลดความแออัด ที่ต้องเดินทางมารับยาที่สถานพยาบาล
- กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาหรือบริการทางการแพทย์นอกหน่วยบริการประจำได้ โดยถือว่าเป็นการเจ็บป่วยกรณีฉุกเฉิน
- ให้จ่ายเงินชดเชยเป็นค่าบริการ กรณีโรค COVID-19 ให้กับหน่วยบริการนอกระบบบัตรทอง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน
- ให้จ่ายเงินชดเชยค่าบริการโรค COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลสนาม หรือหน่วยงานที่ผ่านการรับรองเกณฑ์ประเมินจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)
- เสนอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การรับเงิน จ่ายเงิน รวมถึงรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น เพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 และเพิ่มการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากโรค COVID-19 เป็น 2 เท่าจากเดิม
- ให้เลขาธิการ สปสช. และประธานบอร์ด สปสช. พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อประโยชน์การบริหารกองทุนให้ทันต่อสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19
นอกจากนี้จะเร่งขยายการตรวจแล็บให้มากขึ้น เน้นตรวจเร็ว ควบคุมเร็ว ยุติการแพร่ระบาด ซึ่งข้อมูลการสำรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า จำนวนการตรวจทั่วประเทศ 151,640 ครั้ง แบ่งเป็นแล็บของภาครัฐ 104,692 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 69 และแล็บเอกชนอีก 46,948 ครั้ง พร้อมกับจะเพิ่มหน่วยบริการเอกชนร่วมคัดกรองเชิงรุกในชุมชน ตามประกาศเรื่องแนวทางการให้บริการตรวจและตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการติดเชื้อนอกสถานพยาบาล
ย้ำว่าการตรวจเชิงรุกเป็นการตรวจกลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่การตรวจแบบปูพรมหรือตรวจทั้งหมด ขณะนี้มีแล็บเอกชนขึ้นทะเบียนเข้าแล้ว 18 แห่ง จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 8 ล้านบาท เป็นเงินจากงบกลางที่เพิ่มขึ้นมา แยกจากค่าใช้จ่ายรายหัว
สำหรับร้านยาที่เข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้าน ปัจจุบันมีอยู่ 1,071 แห่ง ซึ่งต้องเป็นร้านยาที่มีมาตรฐาน มีเภสัชกร และผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และในอนาคตอาจพัฒนาเป็นการรับใบสั่งยาเพื่อไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตีวงค้นหาโรค “กลุ่มแรงงาน” หวั่นซ้ำรอยสิงคโปร์
รอลุ้นอังคารหน้า! ต่อ-ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ยอดขอทบทวนสิทธิ์ "เยียวยา 5,000" ทะลุหลักล้าน