สธ.ลุยตรวจ COVID-19 ทั่วประเทศ เจาะกลุ่มเสี่ยง-ไม่แสดงอาการ

สังคม
7 พ.ค. 63
14:01
751
Logo Thai PBS
สธ.ลุยตรวจ COVID-19 ทั่วประเทศ เจาะกลุ่มเสี่ยง-ไม่แสดงอาการ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งตรวจค้นหาในกลุ่มประชากรเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ ตั้งเป้าตรวจเพิ่มอีก 1.7 แสนคน ป้องกัน COVID-19 แพร่ระบาดระลอก 2

วันนี้ (7 พ.ค.2563) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ว่า ขณะนี้ไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงตามลำดับและมาอยู่ในตัวเลขหลักเดียวมากกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ส่วนประชาชนก็มีความกังวลว่าสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้แล้วหรือไม่

หากดูข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 ที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโรคในจีน และชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมาก นำไปสู่มาตรการคัดกรองเข้มงวดตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว โดยตรวจสอบผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) และขยายนิยามเพิ่มขึ้น รวมทั้งตรวจกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิด หรืออยู่ในสถานที่เดียวกัน

ส่วนบางพื้นที่ที่ยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เช่น จ.ภูเก็ต พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางพื้นที่ของกรุงเทพฯ หรือบางกลุ่มเสี่ยง หรือพื้นที่ของโรงพยาบาลบางแห่ง นำไปสู่การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อแยกกักและตัดวงจรการแพร่ระบาด ส่งผลให้กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยน้อยมาก หรือบางวันไม่พบผู้ป่วยใหม่เลย

นอกจากนี้ การค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน หรือผู้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมาก ในกรุงเทพฯ ตรวจ 3,000 กว่าคน พบติดเชื้อเพียง 1 คน

 

 

ลุยตรวจกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีอาการ

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการผ่อนปรนระยะแรกตั้งแต่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา พบประชาชนบางส่วนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตปกติ บางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ไปแย่งกันซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วงเวลานี้ประชาชนบางส่วนและนักวิชาการกังวลว่า จะมีโอกาสกลับไปสู่การระบาดระลอกที่ 2 หรือไม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะตรวจเพื่อเฝ้าระวังและค้นหาในกลุ่มประชากรเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการใดเลย ได้แก่

  • กลุ่มที่ทำงานพบปะคนจำนวนมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ต้องกักในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง คนขับ หรือพนักงานขับรถ กลุ่มแรงงานที่อยู่รวมกัน และอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ
  • สถานที่เสี่ยงที่มีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก ได้แก่ ชุมชนแออัด ศาสนสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ ข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม- 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ไทยตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว 230,000 ตัวอย่าง หรือ 3,421 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน มากกว่าไต้หวัน เวียดนาม

อิตาลี สหรัฐฯ อังกฤษ ตรวจมากกว่า แต่ผลลัพธ์การควบคุมโรคไม่ได้ดีเท่าเรา ซึ่งไทยตรวจอยู่ในระดับปานกลาง แต่ผลลัพธ์การป้องกันควบคุมโรคอยู่ในเกณฑ์ดี

ตั้งเป้าตรวจเพิ่ม 1.7 แสนคน

อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อสั่งการให้เร่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตั้งเป้าภายใน 1-2 เดือนนี้ จะตรวจให้ได้ 6,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน หรือสะสมมากว่า 400,000 เทส ซึ่งต้องตรวจเพิ่มอีก 170,000 ตัวอย่าง โดยจะกระจายการตรวจไปทั้ง 77 จังหวัด ในแต่ละจังหวัดต้องกำหนดกลุ่มเสี่ยงและทำแผนดำเนินการ ส่วนจังหวัดที่ประชากรน้อย หรือมีความเสี่ยงต่ำ ต้องตรวจไม่น้อยกว่า 400 คน ส่วนกรุงเทพฯ ต้องตรวจไม่น้อยกว่า 15,000 คน โดยจะเริ่มกระจายวัสดุอุปกรณ์ในสัปดาห์หน้า เพื่อสร้างความมั่นใจในการผ่อนปรนมาตรการ การตรวจจับโรคได้เร็ว และทรัพยากรสาธารณสุขเพียงพอดูแลผู้ป่วย


ขณะที่รัฐบาลมีความห่วงใยในสถานที่ที่มีความเปาะบาง เช่น ศูนย์กัก โรงงาน ที่พักคนงาน ชุมชนแออัด กิจการประมง สถานดูแลผู้สูงอายุแบบค้างคืน อยู่ระหว่างตรวจทานคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกัน COVID-19

สถานการณ์ในต่างประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร คาดว่าเราต้องอยู่กับโรคนี้ไม่น้อยกว่า 1-2 ปี แต่สามารถอยู่ได้หากประชาชนยังคุมเข้มมาตรการ กิจการและกิจกรรมต้องดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และรัฐบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง