วันนี้ (14 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสาธิตวิธีการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์เวสตี้ เก็บขยะติดเชื้อ ทำงานด้วยระบบนำทางด้วยเทปแม่เหล็ก และแขนกล เพื่อยกถังขยะโหลดขึ้น โดยมีระบบจำแนกประเภทวัตถุและตำแหน่ง เตรียมถูกนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทดแทนบุคลากรในโรงพยาบาล
หุ่นเก็บขยะ รับน้ำหนักได้มากถึง 500 กก.
นายเอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การยกแต่ละครั้งได้สูงสุด 5 กิโลกรัม โดยระบบนำทางด้วยเทปแม่เหล็กนี้ สามารถรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุดได้ถึง 500 กิโลกรัม ความเร็วในการเคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 8 เมตรต่อนาที ซึ่งการเคลื่อนที่จะมีการติดเทปแถบแม่เหล็กไว้ที่พื้น เป็นเส้นนำทาง เมื่อถึงจุดรับขยะ หุ่นยนต์จะอ่านบาร์โค้ด แล้วยกถังขยะติดเชื้อไปยังกระบะจัดเก็บ หากใช้ใน 4 โรงพยาบาล จะสามารถขนส่งขยะติดเชื้อได้ประมาณ 10 ตันต่อวัน ช่วยลดปัญหาการหยุดชะงักของการบริการขนส่ง จากปัญหาการติดเชื้อของบุคลากรในโรงพยาบาลแล้วส่งผลให้การขนส่งล่าช้าได้มากกว่าร้อยละ 50
หุ่นส่งอาหาร-ยา รับน้ำหนักได้ 30-50 กก.
ส่วนหุ่นยนต์ฟู้ดดี้ ส่งอาหาร-ยาในหอผู้ป่วย จะช่วยลดภาระบุคลากรในโรงพยาบาล จากการสัมผัสตรงกับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่จะต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ 2 คนในการดูแลกิจวัตร โดยหุ่นยนต์ฟู้ดดี้ฯ จะใช้ระบบนำทางอัจฉริยะ ด้วยข้อมูลแผนที่ในตัวหุ่นยนต์แบบคิวอาร์โค้ด สามารถรับน้ำหนักได้ 30-50 กิโลกรัม ความเร็วในการเคลื่อนที่ 8 เมตรต่อนาที โดยจะเคลื่อนที่ตามที่ได้โปรแกรมไว้ รวมทั้งจดจำพิกัดและคำสั่งตามที่บันทึกไว้ในแต่ละคิวอาร์โค้ด เน้นการขนส่งครั้งละมากๆ เพื่อทดแทนการขนส่งด้วยมนุษย์ สามารถนำส่งอาหาร 3 มื้อ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ไปยังห้องผู้ป่วย หรือเตียงผู้ป่วยในวอร์ดได้ประมาณ 200 คนต่อวัน รวมทั้งการนำกลับ
คาดทดแทนแรงงานได้มากกว่าร้อยละ 30
ด้าน นพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล หนึ่งในทีมผู้วิจัย และรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จุดเด่นของหุ่นยนต์ทั้ง 2 แบบ คือการขนส่งชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักได้มากกว่าหุ่นยนต์แบบทั่วไป และคุ้มค่าต่อคาบเวลาในการขนส่งในโรงพยาบาล อีกทั้งมีความแม่นยำของการขนส่งในเส้นทางที่เป็นกิจวัตรประจำ สามารถหยุดตามสถานี เพื่อทำงานในโหมดที่มีคำสั่งแตกต่างกันได้ ขณะเดียวกัน ก็มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งเส้นทางใหม่หากมีการปรับเปลี่ยน รวมทั้งมีโครงสร้างแข็งแรง และทำงานได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับลักษณะงานของโรงพยาบาล คาดว่าจะสามารถทดแทนการใช้แรงงานในโรงพยาบาลได้มากกว่าร้อยละ 30