วันนี้ (28 พ.ค.2563) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน โดยไตรมาส 4 ปี 2562 หนี้ครัวเรือนไทย อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ช้าลง เนื่องจากการปรับตัวลดลงในสินเชื่อทุกประเภท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 79.8 สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส
ส่วนภาพรวมคุณภาพสินเชื่อด้อยลงโดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปีนี้ มีมูลค่ามากกว่า 156,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.23 ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ สำหรับปัญหาหนี้สินและสภาพคล่องของประชาชน
รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและบรรเทาภาระค่าครองชีพต่าง ๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SME ที่มีศักยภาพ
อย่างไรก็ตามมาตรการต่าง ๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นมาตรการระยะสั้น และมุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเตรียมแผนดำเนินการและมาตรการต่าง ๆ ที่มุ่งช่วยเหลือฟื้นฟูและยกระดับรายได้ ให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินของแต่ละครัวเรือน รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน
ขณะที่ ผลกระทบของ COVID-19 ต่อการจ้างงาน ประเมินว่า จะมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างกว่า 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย แรงงานในภาคการท่องเที่ยวประมาณ 2.5 ล้านคน แรงงานในภาคอุตสาหกรรม 1.5 ล้านคน และแรงงานในภาคบริการอื่นๆ 4.4 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลดำเนินนโยบายตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน ในส่วนงบประมาณ 4 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะทำให้การว่างงานในปีนี้ จะไม่เกิน 2 ล้านคน