วันนี้ (29 พ.ค.2563) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร ผอ.กองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กรณีข่าวหินลักษณะคล้ายเกล็ดพญานาค ที่ภูลังกา จ.บึงกาฬ หลังจากมีกระแสถึงความแปลกในโลกโซเชียล
นายสุวภาคย์ กล่าวว่า เมื่อช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรธรณี เคยเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณภูทอก ภูวัว ภูสิงห์ หรือหินสามวาฬมาแล้ว พบลักษณะทางธรณีวิทยา เป็นหินทรายอายุ 75-80 ล้านปี เป็นหินที่เกิดในสมัยก่อนประเทศไทยเคยเป็นทะเลทรายโบราณ โดยพื้นที่มีหิน 2 แบบสลับชั้นกันที่ความหนาประมาณ 200 เมตร
ลักษณะโดยทั่วไปของหินในบริเวณนี้ มีชื่อทางวิชาการว่า “หมวดหินภูทอก” ประกอบด้วยหินสลับเรียงเป็นชั้นรวม 2 ชนิด ได้แก่หินทรายเนื้ออาร์โคส กับหินทรายแป้งเนื้อปนปูน เมื่อหินยกตัวขึ้นเป็นภูเขา น้ำฝนจะกัดกร่อนเฉพาะชั้นหินทรายแป้งเนื้อปนปูน เนื่องจากมีเนื้อหินที่ละลายน้ำได้ จึงทำให้พบชั้นเว้าเป็นลักษณะคล้ายถ้ำขนานยาวไปตามภูเขา สลับกับชั้นหินทรายซึ่งเป็นชั้นหินนูนเด่นมา และเป็นลักษณะทั่วไปของภูเขาในบริเวณนี้”
เรียกว่าหินทรายเนื้ออาร์โคส กับหินทรายแป้งเนื้อปนปูน สลับชั้นกัน จะเห็นว่าภูเขาทุกลูกจะมีชั้นสลับกัน บางทีเว้า และนูน ถ้าแบบเว้าจะเป็นถ้ำจะเป็นหินทรายเนื้อปนปูน และละลายน้ำได้ ทำให้เป็นรอยเว้า

ภาพ:กรมุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ภาพ:กรมุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ปัจจัยที่หินประหลาดเกิดจาก "แตกผิวหน้าของหิน"
เมื่อถามว่าจุดที่เจอเหมือนเกล็ดพญานาค อธิบายทางธรณีวิทยาอย่างไร
ผอ.กองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี กล่าวว่า หินเกล็ดพญานาคจุดที่เกิดขึ้นมีอายุ 1 แสนปี ถ้าหินทรายที่สมานกันแน่น และถ้าตอนนั้นเกิดภูเขาแล้วทำให้ชั้นหินทรายบางขั้นที่สมบูรณ์จะมีการแตกตัวกันได้ ที่เรียกว่า ซันแครก (Suncrack) เกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน
เนื่องจากการมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างในวลากลางวัน และกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดขยายตัว และหดตัวสลับกันไปมา จนแตกเป็นรูปคล้ายหกเหลี่ยม ต่อมามีการผุพัง และการกัดเชาะโดยน้ำและเกิดการลบเหลี่ยมบริเวณนี้เห็นเป็นลักษณะเหมือนหมอนที่วางช้อนกันเป็นชั้นขนานไปกับแนวชั้นหิน
หากมองในทุกมุมจะดูเหมือนผิวน้อยหน่ามากกว่า สำหรับการเกิดของซันแครกน่าจะไม่เกิน 1 แสนปีผ่านมา และเหตุผลที่พบในชั้นหินเป็นบางชั้น เนื่องจาก ซันแครก สามารถเกิดได้เฉพาะชั้นหินทรายที่มีความเฉพาะ จึงมีลักษณะที่แปลก

ภาพ:กรมุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ภาพ:กรมุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ไม่แนะนำให้สัมผัสเนื้อหินเสี่ยงผุกร่อน
เมื่อถามว่าสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีนซีน และจะมีความคงทนหรือไม่ นักธรณีวิทยา กล่าวว่า หินลักษณะแบบนี้ไม่ควรแตะต้อง เพราะในต่างประเทศ ถ้าเจอลักษณะที่ประหลาดแบบนี้เขาจะมีการทำเส้นทางเดิน ให้นักท่องเที่ยวเดินไปและห่างหิน เพราะมันจะเป็นร่องคล้ายกันอยู่แล้ว
แต่ไม่แนะนำให้นักท่องเที่ยวแต่ถ้าไปลูบคลำจะเสียหาย เพราะการที่เกิดซันแครก เป็นคำตอบของการผุกร่อนโดยการสึกของผิว เพราะจุดที่เกิดซันแครกจะมีสภาพเหมือนกาบหินเปลือกหินที่รอวันสลายเป็นดินจะลอกคล้ายกะหล่ำปลี
นักธรณีวิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนความเชื่อเรื่องพญานาคในพื้นที่ภาคอีสานและในส่วนของสปป.ลาวมีเยอะ เราไม่ลบหลู่มีคำอธิบายทางวิชาการว่า ในอดีตพื้นที่บริเวณบึงกาฬ บึงโขงหลง ในฝั่งไทย และเขตอุดมไชย หรือบอลิคำไซ สปป.ลาว แต่เดิมก็เคยเป็นทะเลทรายโบราณผืนใหญ่ ภายหลังจึงมีแม่น้ำโขงมากั้นทำให้ 2 ประเทศแยกกัน ดังนั้นชุดหินที่สำรวจทั้งฝั่งไทย (ตัวพญานาค) และที่ฝั่งลาว (หัวพญานาค) ก็เป็นหินลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ต่างกันในรายละเอียด จึงทำให้มีรูปลักษณ์ปัจจุบันไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีจะเข้าไปสำรวจสภาพพื้นที่หินบนภูลังกา เพิ่มเติมอีกครั้ง

ภาพ:กรมุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ภาพ:กรมุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าแหล่งธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่นบริเวณป่าภูสิงห์ จัดอยู่ในประเภทแหล่งธรณีสัณฐานที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ โดย “หมู่หินภูทอกน้อย” ซึ่งเป็นหน่วยหินเพียงหน่วยเดียวในประเทศไทยที่แสดงถึงหลักฐานทางธรณีประวัติว่าในช่วง 75 ล้านปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยเคยเป็นทะเลทรายมาก่อน โดยมีจุดที่โดดเด่น 9 แห่ง ได้แก่ ลานธรรมภูสิงห์ จุดชมวิวลานธรรม กําแพงหินภูสิงห์ หินสามวาฬ ลานหินลาย ถ้้ำใหญ่ หินรถไฟ สะพานหินภูสิงห์ และส้างร้อยบ่อ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทยานฯ ภูลังกา ยังไม่เปิดเที่ยวถ้ำนาคา-น้ำตกตาดวิมานทิพย์