ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“วราวุธ” แนะหาทางเฝ้าระวัง “ฉลาม” อย่าตั้งค่าหัวล่า

สิ่งแวดล้อม
31 พ.ค. 63
17:31
1,154
Logo Thai PBS
“วราวุธ” แนะหาทางเฝ้าระวัง “ฉลาม” อย่าตั้งค่าหัวล่า
รมว.ทส.ระบุห่วงทุกฝ่าย ขอให้ปรับแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ พร้อมผลักดันใช้กฎหมายคุ้มครองฉลาม แต่อย่าตั้งค่าหัวเพื่อให้ชาวบ้านล่า เพราะน่าจะเป็นสัญชาตญาณป้องกันตัวของสัตว์

จากกรณีนายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง จ.สตูล ประกาศตั้งค่าล่าหัวฉลาม 1,000 บาท หากใครจับได้ในเขตคลองเจ๊ะบิลง ตั้งแต่จุดท่าเรือโลมาจนถึงท่าเรือ อบจ. สตูล หลังเกิดเหตุฉลามกัดเด็กชายวัย 12 ปี จนต้องเย็บกว่า 50 เข็ม

วันนี้ (31 พ.ค.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แม้ยังไม่มีกฎหมายกำหนดโทษในการล่าฉลาม แต่ฉลามนับเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและเป็นสัตว์ที่ควบคุมสมดุลระบบนิเวศทางทะเล ขออย่าล่าเพื่อเงินรางวัล วอนให้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนจะดีกว่า เน้นย้ำห่วงใยเด็ก ๆ และประชาชนในพื้นที่ ให้เล่นน้ำอย่างระมัดระวัง และอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ พร้อมเสนอคุ้มครองฉลามเป็นสัตว์สงวนคุ้มครองตามกฎหมาย ต่อไป

นายวราวุธกล่าวว่า ตนได้รับข่าวกรณีมีการตั้งค่าหัวล่าฉลามในพื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง จ.สตูล ตนยอมรับว่ารู้สึกตำหนิการกระทำดังกล่าว เนื่องจาก ฉลามเป็นสัตว์ทะเลที่หายากในปัจจุบัน อีกทั้งนับเป็นสัตว์ที่เป็นผู้ควบคุมความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พยายามรณรงค์เลิกการล่าฉลามเพื่อการบริโภค เพื่อให้จำนวนประชากรฉลามเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเต่าทะเล วาฬ โลมา และพะยูน

การกำหนดค่าหัวฉลาม เปรียบเสมือนสนับสนุนให้ออกล่าเพื่อเงินรางวัล ซึ่งหากเทียบประโยชน์ที่ฉลามเป็นสัตว์ที่ควบคุมสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ก็ไม่อาจประเมินเป็นจำนวนเงินได้

อยากจะฝากถึงท่านนายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง อย่าได้ตั้งค่าหัวฉลามหรือสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนออกไล่ล่าฉลามเพื่อเงินรางวัล แต่อยากให้ประกาศหรือติดป้ายแจ้งเตือนแทนจะดีกว่า

สำหรับตนจะขอบันทึกไว้ว่า ต.เจ๊ะบิลัง คือ พื้นที่ที่มีระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งความสมบูรณ์แบบนี้นับวันยิ่งหาได้น้อยลง

อย่างไรก็ตามก็ยังคงเป็นห่วงเด็ก ๆ ที่ลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว อาจจะต้องเล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง และควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่

“ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ย่อม มีพฤติกรรมการป้องกันตัวเองโดยธรรมชาติ แต่เพียงเพื่อการอยู่รอดและการดำรงชีวิต การสั่งล่าไม่ใช่เป็นการป้องกันตัวตามธรรมชาติ แม้อาจจะยังไม่ผิดกฎหมาย แต่นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดจากที่ธรรมชาติกำหนด ธรรมชาติสร้างสิ่งต่าง ๆ บนพื้นฐานความสมเหตุสมผล โดยทุกอย่างจะสร้างสมดุลกันเองตามธรรมชาติ การล่าไม่ใช่การลงโทษสัตว์ทะเล แต่เป็นการทำลายสมบัติที่จะต้องตกเป็นของลูกหลานในอนาคต”

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พร้อมนักวิชาการลงตรวจสอบทันที ทราบว่า ฉลามดังกล่าวเป็นฉลามหัวบาตร ซึ่งโดยธรรมชาติมีนิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย จากกรณีดังกล่าว น่าจะเกิดจากการตกใจ หรืออาจจะเข้าใกล้ตัวฉลามมากเกินไป ซึ่งอาจคิดว่าศัตรูจึงป้องกันตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฉลามจะยังไม่ถูกกำหนดเป็นสัตว์คุ้มครองหรือมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรฉลามในประเทศไทยก็พบไม่มากและจัดอยู่ในประเภทสัตว์ทะเลใกล้ที่จะหายาก ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสมัยที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ดำรงตำแหน่งอธิบดี ได้มีนโยบายการผลักดันให้ฉลามในประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับฉลามวาฬ วาฬโอมุระ เต่ามะเฟือง และพะยูน

ทั้งนี้ตนได้สานงานต่อและได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่และนักวิชาการติดตามพฤติกรรมฉลามหัวบาตร ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพิเศษ รวมทั้งสำรวจจำนวนฉลามในพื้นที่และรายงานให้ตนทราบ เพื่อจะได้กำหนดมาตรการในการคุ้มครองและป้องกัน ต่อไป

อยากย้ำกับพี่น้องประชาชนที่พบเห็นฉลามหัวบาตรในพื้นที่ ขออย่าล่า แต่ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ส่งทีมเจ้าหน้าดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและหลักวิชาการที่ถูกต้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง