วันนี้ (1 มิ.ย.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขณะนี้แผนฟื้นฟู ขสมก.ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดแผนงานเสร็จแล้ว ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. นำเสนอมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ล่าสุดคมนาคมได้เตรียมที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ หาก คนร.อนุมัติเห็นชอบก็เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สำหรับแผนฟื้นฟู ขสมก. ที่คมนาคมจัดทำนั้น รูปแบบจะใช้วิธีจัดหารถให้บริการ โดยการจ้างเอกชนมาวิ่งรถตามระยะทาง ซึ่งเอกชนจะต้องหารถปรับอากาศ พนักงาน เชื้อเพลิง และที่จอดรถทั้งหมด โดยเป็นการรับจ้างวิ่ง ขณะเดียวกันในส่วนการจองเส้นทางเดินรถให้บริการ ขสมก. จะปรับเส้นทางเดินรถใหม่จากเดิมมีเส้นทางเดินรถทั้งสิ้น 269 เส้นทาง ปรับใหม่เหลือเพียง 108 เส้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนเส้นทาง ส่วนการกำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 30 บาทตลอดวัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีผู้โดยสารมาใช้บริการวันละ 2 ล้านคน ทำให้ ขสมก.มีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 60 ล้านบาท โดยคุ้มค่าต่อการให้บริการและในแผนกำหนดว่าภายใน 7 ปี หลัง ครม.อนุมัติ EBITDA จะเป็นบวกในปี 2572 สำหรับหนี้สินของ ขสมก. ปัจจุบันพบว่า มีหนี้สินกว่า 172,000 ล้านบาท และหาก ขสมก.ไม่มีการฟื้นฟูเลย คาดว่าในสิ้นปี 2563 ขสมก.จะมีหนี้สินกว่า 200,000 ล้านบาท
หากพิจาณารัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคมพบว่าจะมี 4 พี่น้อง ซึ่งทั้ง 4 พี่น้องจะเห็นว่าป่วยกันหมด คนที่ป่วยหนักสุด คือ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้พยายามที่จะหาวิธีรักษา แต่กระทรวงการคลังได้เป็นคนรับที่จะเอาการบินไทยไปรักษาเอง ส่วนพี่น้องที่เหลืออีก 3 ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.),บริษัท ขนส่งจำกัด (บขส.), และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)