เมื่อกลายเป็นลูกหนี้และศาลมีคำตัดสินให้ต้องขายทอดตลาด ครอบครัวของ "สันติพงษ์ ฐานะวัน" จึงเหลือ "บ้าน" ทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายที่ต้องถูกขายเพื่อชดใช้หนี้สินจากการใช้บ้านเพื่อค้ำประกันเงินกู้ให้ธุรกิจน้ำผลไม้ปั่นบรรจุแก้วและค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล
สันติพงษ์ ฐานะวัน ชาวจังหวัดขอนแก่น เล่าว่า ช่วงนั้นธุรกิจล้มหมดแล้ว จึงหันมาเปิดร้านขายของชำ อีกทั้งต้องจ่ายค่าเรียนของลูกและค่ารถรับส่ง ทำให้ตัดสินใจเลือกครอบครัวก่อน และไม่ส่งเงินจ่ายหนี้
สันติพงษ์ เปลี่ยนอาชีพเพื่อหาเงินใช้หนี้จากเจ้าของกิจการ เป็นพนักงานมีเงินเดือนประจำ แต่หนี้สินค้างเก่ามูลค่า 10 ล้านบาท ก็ไม่ได้ลดลง ทำให้บ้านที่นำไปค้ำประกัน ถูกฟ้องยึดทรัพย์และเตรียมขายทอดตลาดในปีนี้ และยังไม่ทราบว่าจะครอบครัวจะอยู่ที่ไหนต่อไป อีกทั้งเป็นไปไม่ได้ที่จะหาเงินจำนวนมากมาซื้อทรัพย์สินคืนในราคาขายทอดตลาด
คงซื้อคืนไม่ทัน เพราะปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน ไม่มีงานทำที่เงินเดือนสูง หลักทรัพย์กู้ก็ไม่มี
อาจิน จุ้นลก รองประธานมูลนิธิสุภา วงศ์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ มองว่า กรณีนี้เป็นเพียง 1 ในหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่มีทางออก หากไม่ได้รับคำปรึกษา ประกอบกับกฎหมายที่ออกมาใหม่ กำลังเร่งบังคับให้คนกลุ่มนี้ไร้ที่อยู่ ปัจจุบันมีทรัพย์สินรอการขายทอดตลาดอยู่มากกว่า 1,400,000 คดี ส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหนี้ที่ไม่เป็นธรรมและบางส่วนมาจากกลุ่มหนี้นอกระบบ
ขณะที่นางสุดสมบัติ บุญชื่น ชาวจังหวัดชัยนาท เป็นลูกหนี้นอกระบบอีก 1 คน ที่มีหนี้เกือบ 1 ล้านบาท เมื่อแพ้คดีที่ดินของเธอต้องถูกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ โดยปัญหาหนี้นอกระบบเริ่มต้นจากการไปขอกู้เงินจากนายทุนเพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัว จำนวน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน ต่อมาเธอกู้เงินเพิ่มอีก 4 ครั้ง เพื่อหมุนเวียนกับหนี้สินค้างเก่า ทำให้การเงินกู้แต่ละครั้งถูกหักเป็นค่าดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยทบเงินต้นสะสมหลายครั้ง ทำให้กลายเป็นหนี้สินยอดรวมสูง 650,000 บาท
เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เสนอให้นำที่ดิน 9 ไร่ ในพื้นที่ จ.ชัยนาท ไปจำนอง คิดดอกเบี้ยตามกฎหมายร้อยละ 15 ต่อปี แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น หลังจากนำที่ดินไปจำนอง นายทุนเงินกู้ฟ้องศาลยึดทรัพย์และที่ดินเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด เธอบอกว่าที่ดินถูกขายทอดตลาดในราคา 1,100,000 บาท แต่นายทุนฟ้องรวมยอดหนี้และดอกเบี้ย เป็นเงิน 950,000 บาท แม้จำนวนเงินจะต่ำกว่าราคาที่ดิน แต่ก่อนหน้านี้เจ้าหนี้เก็บดอกเบี้ยเธอเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จนสุดท้ายต้องเสียที่ดินไป
เครือข่ายด้านการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ มองว่า ปัญหาดังกล่าวกระทบต่อสิทธิลูกหนี้ และเป็นสาเหตุทำให้แก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบไม่ได้ จนยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเตรียมยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง เพื่อคัดค้าน กฎกระทรวงบังคับขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายทอดตลาด ออกมาบังคับใช้แล้วเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง The Exit : ลูกหนี้กังวลกฎหมายขายทอดตลาดฉบับใหม่