ปรากฏการณ์นักท่องเที่ยว แห่ทะลักไปท่องเที่ยวชายหาดบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี ทันที ที่ประกาศเปิดชายหาดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 เรื่อยมาจนถึงการจัดระเบียบตามวิถี "New Normal" ทำให้บางแสน ต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในรอบกว่า 40 ปี จากย่านท่องเที่ยวกางเตียงผ้าใบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก็ต้องปรับเปลี่ยนระเบียบ ออกกติกา กับผู้ค้าที่เกี่ยวเนื่องกับชายหาดบางแสนกว่า 2,000 ราย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ภายใต้การจัดระเบียบ "ไทยพีบีเอส" ได้เห็นถึงมิติการจัดการ "บางแสน" ของหน่วยงานท้องถิ่นอย่างเทศบาลเมืองเมืองแสนสุข ที่ต้องรับมือกับนักท่องเที่ยวปีละกว่า 2 ล้านคน จนทำให้บางแสนมีรายได้ทะลุกว่า 10,000 ล้านบาทกับ 10 กลุ่มธุรกิจหลัก บนพื้นที่ชายหาดระยะทางยาว 6 กิโลเมตรแห่งนี้ ทีมข่าวสัมภาษณ์พิเศษ กับ "นายกตุ้ย" หรือ นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรี เทสบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ในวัย 44 ปี
ภาพรวมหลังเปิดชายหาดบางแสนเต็มรูปแบบเมื่อ 1 มิ.ย.63 จนถึงปัจจุบันเกือบ 1 เดือนเต็มเป็นอย่างไร
ภาพรวมทางเทศบาลเมืองแสนสุข ค่อนข้างยอมรับได้ แต่ถามว่าพอใจมากไหม ก็ยัง เนื่องจากว่า ตอนนี้จริง ๆ เราเน้น จัดระเบียบผู้ประกอบการเป็นหลัก ที่ว่า New normal มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การค้าขายบนชายหาดจึงจำเป็นต้องจัดระเบียบร้านค้า ให้ผู้ประกอบการทำตามระเบียบที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสาธาณสุข ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ COVID-19 ด้วยว่าเขาต้องปฏิบัติตัวอย่างไร การคัดกรอง การสวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นสิ่งแรกที่เราควบคุมได้ดีแต่ในภาคการท่องเที่ยว ถือว่าเทศบาลฯ ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะยังไม่มีกฎหมายควบคุมกรณียังไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย การไม่ค่อยยอมให้คัดกรอง หรือ การขอให้ปฏิบัติตัวเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing)ยังไม่ได้ในบางกรณี ถือว่า ยังไม่มีความร่วมมือที่ดีเท่าที่ควร ตรงนี้ ถือว่า ยังมีความน่าเป็นห่วงแต่ทางเทศบาลเมืองแสนสุขก็มีมาตรการในการลดความเสี่ยงลงโดยการปิดถนนเลียบชายหาด เป็นบางช่วง บางเวลา เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการหรือนักท่องเที่ยวเข้ามา สมทบเพิ่ม
การดูแลพื้นที่บางแสน ตามวิถี New normal และยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ COVID-19 ควบคู่ไปด้วยวางแผนงานไว้อย่างไรบ้าง
ช่วง COVID-19 เราจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด ที่เพิ่มมาตรการต่าง ๆ เข้ามามากมาย โดยเราดูฐานข้อมูลจากกฎหมายเป็นหลัก และ กฎหมายที่เสริมเข้ามาเกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อจะมีสาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้ให้ข้อมูลและช่วยแนะนำทางเทศบาลเมืองแสนสุข เช่น การเว้นระยะห่างของเตียงผ้าใบ หรือการเว้นระยะห่างระหว่างกัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ หลังจากหมดช่วง COVID-19 ไปแล้ว แต่บางแสนจะยังใช้มาตรการลักษณะนี้ต่อไป เพราะเรายังมีกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายอาจคิดไปก่อนว่า หลังจากพ้นช่วง COVID-19 การกางเตียงผ้าใบชายหาดจะสามารถกางได้เต็มพื้นที่เหมือนเดิม จะใช้นั่งชิดกันได้เหมือนก่อน ( ปัจจุบันเทศบาลกำหนดให้กางได้ประมาณ 100 ตัว ต่อ 1 ล็อก และอดีตก่อนช่วง COVID-19 กางได้เต็มที่กว่า 200 - 240 ตัว ต่อ 1 ล็อก)
แต่ตอนนี้ ผมยืนยันว่า เราจะไม่อนุโลมแล้วเพราะว่ายังต้องอยู่ในช่วงควบคุมโรคติดต่อ และที่สำคัญคือ นักท่องเที่ยวเองก็ชื่นชอบ การเว้นช่องว่างระหว่างเตียงผ้าใบ ไม่อยากไม่นั่งติดกันกับกลุ่มอื่น รวมถึง การประกาศให้บางแสนหยุดประกอบกิจการ ทุกกิจกรรม ในทุกๆ วันจันทร์ มาตรการนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของ "new normal บางแสน" ด้วยเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลทางวิ่งแวดล้อม ของทีม ม.บูรพาที่ทำ แจ้งผลมาว่า เทศบาลเมืองแสนสุข จำเป็นต้องหยุดให้ชายหาดได้พักฟื้นสภาพ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อจะได้ให้ชายหาดโดนแดด ผึ่งลม ทำบิ๊กคลีนนิ่ง ในส่วนของเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อจะได้ฟื้นฟูให้ชายหาดมีสภาพสวยงามและมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีได้มากขึ้น
ส่วนกฎระเบียบต่างๆ ของผู้ค้า เราได้วัดพื้นที่ มีการย้ายผู้ประกอบการหลายส่วนให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้ เพื่อจะได้มีพื้นที่สาธารณะคืนให้กับประชาชนจะเก็บพื้นที่แบบนี้ไว้ตลอดไป
นอกจากนี้ ยังได้ปรับภูมิทัศน์ โดยการเพิ่มจำนวนต้นมะพร้าว จำนวน 300 ต้น ตามแนวชายหาด เพื่อเพิ่มพื้นที่ร่มเงา พื้นที่สีเขียว ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งเพราะนักท่องเที่ยวบางคน อาจไม่อยากใช้บริการเตียงผ้าใบ ก็จะได้มีพื้นที่สาธารณะพักผ่อนตามอัธยาศัยได้ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว รวมถึงยังเห็นว่า ยังพอมีพื้นที่บางส่วนเพิ่มเติมพื้นที่สีเขียวได้อยู่ จึงจัดต้นไม้ไปลงไว้เป็นแนวให้ด้วย
เห็นผู้ค้ามากมาย เทศบาลฯ บอกว่า มีถึง 2,000 ราย ปัจจุบันแบ่งเป็นกี่กลุ่ม ทำสัญญาแบบใด
ทุกกลุ่มจะทำสัญญากับเทศบาลฯ แบบปีต่อปี แต่เฉพาะผู้ประกอบการเตียงผ้าใบ จะเป็นประเภทกิจการเดียวที่ต้องจับสลากเพื่อวนเลือกทำเลสถานที่กันทุก ๆ ปี เพื่อลดความเสียเปรียบได้เปรียบกันในการทำมาหากิน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 10 กลุ่ม หลักที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจชายหาดบางแสน ได้แก่
1. กลุ่มผู้ประกอบการเรือสกู๊ดเตอร์ (รวมเรืออ่าง และ จักรยานน้ำ) จำนวน 163 ราย
2. กลุ่มให้เช่าห่วงยาง จำนวน 295 ราย
3. กลุ่มผู้ให้บริการเก้าอี้-เตียงผ้าใบชายหาด 149 ราย
4. ผู้ให้บริการนวดแผนไทย 42 ราย
5. ผู้ประกอบการร้านค้าริมทางเดินหินแกรนิต 496 ราย
6.กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าล้อเลื่อน 572 ราย
7.กลุ่มแผงลอยขายอาหารชายหาด 139 ราย
8. กลุ่มแผงลอยขายเสื้อผ้า 44 ราย
9. กลุ่มแผงลอยขายอาหารสวนหย่อมแหลมแท่น 21 ราย
10. กลุ่มผู้ค้าหาบเร่ 12 ราย
โดยค่าธรรมเนียม ที่เทศบาลจัดเก็บ จะแตกต่างกัน (ดูได้จากภาพตารางนี้)
การจัดระเบียบเตียงผ้าใบในปัจจุบัน ต่างจากอดีตอย่างไร
ตอนนี้ ชายหาดบางแสน มีผู้ประกอบการเตียงผ้าใบ 84 ราย (84 ล็อก) จำนวนผู้ประกอบการยังมีเท่าเดิม แต่พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการลดลง ซึ่งอดีตเมื่อสัก 40 ปีก่อน จะมีพื้นที่กว้าง 23 เมตร ต่อมายุค คสช. ปี 2557 ลดลงเหลือ 19 เมตร และตอนนี้หลัง COVID-19 ที่บางแสนกลับมาเปิดใหม่ ลดลงอีกเหลือ 15 เมตร จากเดิมที่ผู้ค้าเคยเก็บค่าเช่าเตียง เมื่อ 40 ปี ก่อน ตั้งแต่ราคาตัวละ 10 ปี ก็เพิ่มมาเป็นตัวละ 30 บาท ในช่วงปี 2530 กว่า ๆ จนถึงต้นปี 2563 ก่อน COVID-19 และ มาปรับเพิ่มเป็นไม่เกินตัวละ 50 บาท ในช่วงหลัง COVID-19 ที่เริ่มเปิดให้บริการเตียงผ้าใบมาตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.63
ย้อนไปในยุค คสช. (2557) มีนโยบายจัดระเบียบชายหาดทั่วประเทศ แต่ทำไมบางแสนจึงยังวางเตียงผ้าใบ-ขายของกันต่อได้
ตอนนี้อยู่ในช่วงผมเป็นนายกเทศมนตรี (ยุคแรก ) ก็เจรจากับทหาร อธิบายให้เขาฟังถึงความจำเป็น และยอมที่จะลดพื้นที่เตียงผ้าใบและร้านค้า เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการเดินหน้าต่อได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า จุดเด่นของบางแสน คือ ผู้ประกอบกิจการ เป็นคนในท้องถิ่นเท่านั้น หากต้องยกเลิกทั้งหมดผลกระทบจะตกกับครอบครัวของพวกเขา ซึ่งทั้งชีวิตหลายครอบครัว ยึดอาชีพที่เกี่ยวข้องกับชายหาดบางแสนมาตลอดชีวิต ตั้งแต่รุ่นพ่อมาต่อรุ่นลูก ตอนนั้นเจรจาก็ไปจบกันตรงที่ยอมลดพื้นที่วางเตียง แต่ไม่ได้ลดจำนวนผู้ประกอบการ ซึ่งทหารก็ยอมรับกับสิ่งที่เราพยายามปรับตัวกัน และทำให้บางแสนไม่ได้เคยหยุดประกอบกิจการ
นักท่องเที่ยวหลายคน สงสัยว่า ทำไมบางแสน จึงต้องมีเตียงชายหาดมากขนาดนี้ (อดีตประมาณ 4-5 กม.จากความยาวชายหาด 6 กม.)
เนื่องจากบางแสน เป็นชายหาดที่หันไปทางทิศตะวันตก ในช่วงเวลาหลังเที่ยงหรือหลังบ่ายคล้อยไปแล้วแดดจะลงต่ำ ต่อให้มีแนวต้นมะพร้าวตามหาดทรายแต่ก็ไม่มีร่มกัน ดังนั้นการให้บริการร่มเตียงผ้าใบจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นวิถีที่นักท่องเที่ยวต้องการอยู่ แต่เราให้อิสระผู้ประกอบการว่า ไม่จำเป็นต้องมีเตียงแบบเดียวกันหมดและเป็นเตียงยาวแบบพัทยา หรือ เป็นการกางโต๊ะญี่ปุ่นก็ได้เช่นกัน เป็นการเพิ่มสีสัน แต่มาตรการด้านสาธารณสุขยังต้องคงอยู่ รวมถึงผู้ประกอบการรถเข็นก็สามารถเปลี่ยรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น หรือ จะทำแบบรถขายอาหาร (Food Truck) ก็ได้เช่นกัน และตามแผนงานตอนนี้ เทศบาลฯ ได้ทำพื้นที่ปลอดร่มปลอดเตียงผ้าใบเพิ่มเติมคืนมาอีก 1.5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งจำนวน 8 จุด ตามแนวชายหาด เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกใช้บริการ และเท่ากับว่า ตอนนี้ ชายหาดบางแสน มีพื้นที่วางเตียง ประมาณ 3.5 กิโลเมตร
หลายคนไม่เคยรู้ว่า คนที่ประกอบกิจการที่ชายหาดบางแสน ต้องมีภูมิลำเนา เป็นคน "ตำบลแสนสุข" (ที่ตั้งบางแสน) เท่านั้น ตอนนี้ ยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่
ใช่ครับ ลักษณะเด่น ของธุรกิจที่ชายหาดบางแสน คือ ผู้ประกอบการทุกคนที่ได้รับใบอนุญาตจากเทศบาลเมืองแสนสุข จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข หรือ ตำบลแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี เท่านั้น ซึ่งเทศบาลเมืองแสนสุขไม่อนุญาตให้ออกใบอนุญาตให้คนนอกพื้นที่แสนสุขเลย ซึ่งแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกเทศบาลเมืองแสนสุข (สมชาย คุณปลื้ม บิดา) แล้ว โดยมีแนวคิดว่าการพูดคุยกันเองกับคนในพื้นที่จะพูดคุยได้ได้ง่ายกว่า เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพื้นที่ พวกเขาเหล่านี้ก็จะช่วยกันดูแล
แต่ถ้าเป็นบุคคลนอกพื้นที่มาประกอบกิจการ มักเข้ามากอบโกยผลประโยชน์การประกอบอาชีพเท่านั้น โดยไม่มีการดูแลใด ๆ แม้กระทั่งภาษีก็ไม่เสียเนื่องจากอยู่พื้นที่อื่นแต่กรณีนี้ ถือว่าคนในพื้นที่ต้องเสียภาษีและหวงแหนพื้นที่มากกว่า แต่ทางเทศบาลฯ ก็ต้องจัดอบรมผู้ประกอบการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยเพราะการทำธุรกิจก็สำคัญควบคู่ไปด้วย ซึ่งเราเคยเห็นตัวอย่างจากพื้นที่อื่นๆ ว่าการให้คนนอกพื้นที่เข้ามาประกอบธุรกิจ มักมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอในการควบคุมดูแล
กว่าจะจัดระเบียบ หรือ ทำให้บางแสน เป็นแบบทุกวันนี้ พูดคุยทำความเข้าใจอย่างไร มีปัญหาเกิดขึ้นบ้างหรือไม่
มีครับ จริง ๆ การบริหารราชการมีปัญหาทุกวัน เช่น ผู้ประกอบการ กับ ผู้ประกอบการ , ผู้ประกอบการกับเทศบาลฯ, ผู้ประกอบการกับนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเราต้องบริหารจัดการแบบรายเป็นรายกรณีไป ซึ่งผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับหาดบางแสน เช่น กลุ่มเตียงผ้าใบ, ร้านอาหาร, เช่าห่วงยาง, ขายของที่ระลึก , เสื้อผ้า, หมอนวดแผนโบราณ ฯลฯ เทศบาลเมืองแสนสุข จะใช้กฎระเบียบควบคุมแตกต่างกันไป แต่จะมีกฎหมายรวมที่ใช้บังคับร่วมกัน เช่น การกำหนดช่วงระยะเวลาการต่อใบอนุญาต, การทดสอบด้านสาธารณสุข, การทดสอบด้านอาหารว่าผ่านมาตรฐานสาธารณสุขหรือไม่, การขายราคาสินค้าต้องตรงตามประกาศการควบคุมราคาของเทศบาลเมืองแสนสุข
นายกตุ้ยฯ ถือเป็นคนท้องถิ่น ที่เกิดและเติบโตมากับบางแสนกว่า 40 ปี มองปรากฎการณ์บางแสนในอดีต จนถึงวันนี้ อย่างไร
บ้านครอบครัวผมอยู่หาดบางแสน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอด ตั้งแต่อดีตตอนผมเป็นเด็กเล็กมาก ๆ บางแสน ยังเป็นการปกครองแบบสุขาภิบาล ยังไม่เห็นการพัฒนาใด ๆ ถนนยังเป็นถนนท้องถิ่นคนมาเที่ยวยังไม่มาก ยุคผมเด็ก ๆ พื้นที่บางแสนส่วนใหญ่ไม่มีการจัดระเบียบ ผู้ประกอบการก็มีแต่คนพื้นที่ ต้นมะพร้าวก็ไม่ได้สวยงามแบบปัจจุบันไม่มีปลูกเป็นแนวหรือปรับภูมิทัศน์เพื่อรองรับความสวยงามเหมือนปัจจุบัน และอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ ปัญหาขยะทะเล ตั้งแต่ผมเกิดมา บ้านอยู่ติดทะเลอยู่แล้ว พอออกมาหน้าบ้านก็จะเห็นขยะทะเลอยู่แล้ว ยุคนั้นเป็นขยะที่เกิดจากการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นพวกไม้ไผ่, เชือก, อวน ปลาเน่า, สุนัขตายแล้วถูกโยนลงน้ำ คือ ทุกอย่างของขยะไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน ก็จะมารวมกันเกยตื้นที่บางแสน ภาพในอดีตถึงปัจจุบันแทบไม่แตกต่างกัน เพียงแต่รูปแบบประเภทขยะอาจเปลี่ยนไปบ้าง
"บางแสน" ยกฐานะจากสุขาภิบาล เป็น เทศบาลเมืองแสนสุข เมื่อปี 2531 ซึ่งเริ่มมีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว เริ่มมีการจัดระเบียบ ควบคุมใบอนุญาต ผู้ค้าผู้ขาย เริ่มจัดพื้นที่ชายหาดบางแสนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และเมื่อเปิดให้จับจองพื้นที่ค้าขาย ก็เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด ตลอดแนวชายหาดร่มเตียงผ้าใบ ซึ่งสมัยนั้น ยังไม่ได้จัดระเบียบแบ่งระยะการวางแนวเขตเหมือนปัจจุบัน เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ถ้าถามว่าอดีตจำนวนผู้ประกอบก็น่าจะมีพอ ๆ ไล่เลี่ยกับปัจจุบัน (มิ.ย. 2563) แต่พื้นที่วางเตียงจะครอบคลุมกว้างมาก อิสระลึกไปติดทะเลได้เลย เพราะยังไม่จัดระเบียบยังไม่มีกฎหมายมารองรับ สมมติ ผู้ประกอบการเจ้าหนึ่ง อาจวางเตียงได้ถึง 30 เมตร และพื้นที่แต่ละล็อกก็ได้จับจองไม่เท่ากันด้วยขึ้นอยู่กับว่าใครจับจองพื้นที่ได้ก่อนกัน อิสระมาก ใครมาก่อนได้ก่อน ก็จองกันไป แต่ที่แน่ ๆ ในอดีตสมัยที่ผมเติบโตขึ้นมา และเราเป็นคนในพื้นที่นี้ด้วย จำได้ว่า ตอนนั้นไม่มีพื้นที่ให้เหยียบทรายเลย พื้นที่ชายหาดจะเต็มไปด้วยร่มและเตียงผ้าใบ ซึ่งอดีตยังไม่มีการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ คนในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวที่มาก็รับสภาพไป จะยังไม่รู้สึกอะไรกันมาก
เมื่อมีการตั้งเทศบาลเมืองแสนสุข และในยุคคุณพ่อ ( นายสมชาย คุณปลื้ม) เป็นนายกเทศบาลเมืองแสนสุข และบางแสนพัฒนาจนถูกยกฐานะเป็น "เมืองท่องเที่ยวพิเศษ" เมื่อปี 2536 การจัดระเบียบเตียงผ้าใบและผู้ประกอบการ ถูกกำหนดช่วงเวลาชัดเจนขึ้น เช่น ช่วงวันธรรมดา ต้องเลิกประกอบกิจการ 18.00 น. , วันเสาร์- อาทิตย์ กางเตียงผ้าใบค้างขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะขายหรือไม่ขายไม่รู้ แต่กางยาวได้เลยช่วงนั้น
การประกอบใบอนุญาตเริ่มให้เสียภาษีค่าจัดเก็บขยะ ซึ่งปรากฎการณ์บางแสนช่วงนั้น เป็นบรรยากาศที่ความเป็นระเบียบกับความไม่เป็นระเบียบอยู่ด้วยกัน คือ ความรกรุงรังมันมีแต่ก็ยังอยู่ในระเบียบที่มีเช่นกัน ถามว่า ชายหาดบางแสนมีเสียงชื่นชมว่า แม้ว่าจำนวนผู้ประกอบการจะเยอะมาก แต่ก็ยังเป็นระเบียบแบบที่เห็น แต่พอช่วงหลัง ๆ แน่นอนว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเริ่มต้องการทางเลือกมากขึ้น และบางแสนเริ่มเปลี่ยนชัดเจนชัดเจนอีกครั้งตอนผมเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแสนสุข รอบแรก (2553)
ช่วงบริหารจัดการบางแสน ยุคของนายกฯ ตุ้ย คิด-วิเคราะห์ ขับเคลื่อนอย่างไร
หลังจากรับตำแหน่งสมัยนั้น ก็คิดว่าน่าจะเป็นยุคใหม่แล้ว เริ่มจากนั่งคิดนั่งมองว่า พื้นที่สาธารณะต้องถูกจัดระเบียบมากขึ้นถ้าเราต้องการยกระดับบางแสน ก็ต้องแบ่งความสมดุลทุกด้าน ซึ่งสมัยผมเป็นนักศึกษามีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ จะเห็นความเหมาะสม การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะของต่างประเทศเขาให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอันดับหนึ่ง แต่พอผมเข้ามาบริหารจัดการที่บางแสนค่อนข้างยาก เพราะเหมือนทุกอย่างมีการบริการจัดการมาก่อนแล้ว มีระบบใบอนุญาตแล้ว อยู่ ๆ จะให้ไปยกเลิกใบอนุญาตกับผู้ประกอบการรายเดิม เราทำไม่ได้ เนื่องจากถือว่าเป็นอาชีพหลักของพวกเขา ถ้าไปยกเลิกก็เหมือนทำลาย แต่เราก็ใช้วิธีเข้าไปจัดระเบียบและจัดทำบันทึกข้อตกลง ให้ผู้ประกอบการอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมอยู่ในข้อตกลงที่ตกลงกันได้
สิ่งแรกที่เข้ามาปรับปรุงเรื่องเตียงผ้าใบสมัยนั้นคืออะไร
ช่วงนั้นฐานข้อมูลผู้ประกอบการ ก็มีจัดเก็บกันไว้ นำมาปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการเตียงผ้าใบขณะนั้นมี 86 ราย ปัจจุบันยกเลิกประกอบกิจการไป 2 ราย (สิ้นปี 2562) แล้วเชื่อหรือไม่ว่า หลัง ๆ เริ่มรู้มาว่า มีการเซ้งเตียงผ้าใบกัน เชื่อหรือไม่ว่าบางแสน มีราคาเซ้งเตียงผ้าใบล็อกหนึ่ง เอาไปให้เซ้งกันเองแบบผิดกฎหมาย ราคาสูงสุดมากถึง 7 ล้านบาท ช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา แบบช่วงที่บางแสนพีคจัด ๆ แต่โดยเฉลี่ยก็ราคาสูงถึง 4 ล้าน - 5 ล้านบาท แต่สมัยก่อนล็อกมันกว้างมาก
ทำไมราคาเซ้งสูงถึงขนาดนั้น 7 ล้านบาท ได้อะไรกลับมาบ้าง
เท่าที่ทราบ ผู้ค้าก็ได้สิทธิ์ ได้ล็อกเตียงผ้าใบ แล้วก็รถเข็นขายส้มตำ รถเข็นขายเครื่องดื่ม ซึ่งเขาคงมองว่า เป็นอาชีพที่จะต้องทำไปตลอดชีวิต ซึ่งเขาคงไม่ได้มองว่า มันจะคุ้มไหมกับราคาขนาดนั้น แต่คงคิดว่าขอให้ได้มีพื้นที่ประกอบกิจการประกอบอาชีพเท่านั้นเอง ผมเข้าใจว่า บางคนมีพื้นฐานไม่ได้เหมือนกัน และหลายคนเข้าใจว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการคือ "โฉนด" ซึ่งผมเองย้ำตลอดเวลาเวลาครบรอบต่อใบอนุญาตว่า ใบอนุญาต คือ ใบอนุญาต ไม่ใช่โฉนด ทุกคนก็จะมายึดไปครอง แต่เราต้องบอกว่า ไม่ใช่ ชายหาดคือพื้นที่สาธารณะ เทศบาลฯ จะเอาคืนเมื่อใดก็ได้ในกรณีที่คุณไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
ตรงนี้เราต้องประกาศให้เขารู้ชัดเจน และต้องย้ำกันตลอด เพราะคนเราเวลาเสียเงินแพงๆ (เซ้ง) จะยิ่งมองว่า ที่ดินนี่คือสมบัติส่วนตัว เวลาจัดระเบียบแรก ๆ มีปัญหามาก เพราะว่าได้รับแรงกดดันจากทุกภาคส่วน เพราะจะมีคนวิ่งไปหาญาติพี่น้องผมบ้าง คุณแม่ผมบ้าง ใครต่อใครบ้าง ให้มากดดันว่า แบบเนี่ยเซ้งมาแพงนะ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผมจะบอกว่า ทุกอย่างรองรับด้วยกฎหมาย กฎหมายไม่ได้รองรับให้คุณไปเซ้งกันเอง แต่คุณเอาที่สาธารณะไปเซ้งกันเป็นล้านบาท ในขณะที่คุณจ่ายค่าภาษีขยะ, ค่าใบอนุญาตให้เทศบาลแค่ ปีละ 20,000 กว่าบาท 10,000 กว่าบาท แต่คุณไปเซ้งกันถึง 7 ล้านบาท แต่ในขณะที่รัฐได้เงินจากคุณปีละ 20,000 บาทเท่านั้น มันไม่แฟร์ และมันผิดระเบียบ เพราะฉะนั้น ผมจะไม่ฟังเลย
ปรากฎการเซ้งเตียงชายหาดกันช่วงนั้น มีจำนวนมากน้อยเพียงใด และ เทศบาลฯ ทำอย่างไร
มีมาตลอด แต่ตอนหลัง เทศบาลฯ จึงนำมาเข้าระบบออกหลักเกณฑ์ว่าให้มีการเปลี่ยนมือได้ ภายใต้คุณสมบัติที่เทศบาลฯ กำหนด เช่น ต้องเป็นคนในพื้นที่แสนสุข, ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเปลี่ยนมือ ล็อกหนึ่งเสียหลักแสนบาทแต่ยังถูกกว่าที่ผู้ประกอบการไปเซ้งกันเองที่เป็นหลักล้านบาท
สมมติ นาย ก.โอนให้นาย ข. ต้องมาจ่ายค่าอุทิศให้กับเทศบาลฯ เพราะข้อกฎหมายบางอย่างไม่ได้เอื้อให้เทศบาลสามารถเก็บเงินค่าธรรมเนียมได้เป็นหลักแสนบาทจึงใช้วิธีให้เหมือนให้เขาบริจาค โดยมีใบเสร็จ ทุกอย่างมีใบเสร็จหมด ทางกองคลังของเทศบาลฯ เป็นผู้รับโอน เงินเข้าคลังของเทศบาล ตั้งใจทำให้เข้ามามาอยู่ในระบบ รายได้ของรัฐนำเข้าแผ่นดิน
ช่วงที่มีการเซ้งหนัก ๆ จากการปล่อยราคากันเองแล้วเงินไม่เข้าเทศบาล ทำให้เกิดปัญหาหนักขนาดไหน
เท่าที่ทราบ ปัญหาจะเกิดขึ้นก็ตอนที่ผู้ให้เซ้งกับผู้ขอเซ้งมีปัญหากันเอง ตกลงกันไม่ได้ แม้ก่อนหน้านี้เขาไปคุยกันเอง โดยเทศบาลไม่มีสิทธิ์รู้เลย เราจึงพยายามแก้ปัญหาให้เข้ามาอยู่ในระบบบริหารจัดการโดยเทศบาล จึงทำให้รู้ว่า นาย ก.เป็นเจ้าของล็อกไหน นาง ข. เป็นเจ้าของล็อกไหน แต่เดิมเมื่อเปลี่ยนมือกัน ก็ไปแอบเซ้งกัน ซึ่งชื่อผู้รับใบอนุญาตไม่ตรงกับที่แจ้งเทศบาลฯ ไว้แต่เดิม เทศกิจก็ไปจับ แต่พอไปจับกันบ่อยๆ ก็มาคิดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้ผู้ประกอบการมาทำเรื่องให้ถูกต้องทำเรื่องผิดให้มันถูกซะ มาตรการต่าง ๆ ทำให้ถูกต้องในการเปลี่ยนมือ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม,เปลี่ยนชื่อผู้ถือใบอนุญาตจากเก่าเป็นใหม่ให้ถูกต้อง ตรวจสอบคุณสมบัติ
ส่วนเรื่องราคาการโอน ทางเทศบาลฯ จะประกาศให้โอนได้เป็นบางช่วง ซึ่งปกติจะอยู่ในช่วงระยะเวลา 3 - 5 ปีจึงจะเปิดให้เซ้งกันได้ครั้งหนึ่งแต่ถ้าคุณไปเซ้งกันเองในช่วงเวลานอกเหนือจากที่ประกาศ ก็ถือว่า เป็นความผิดได้
แนวทางของการเปิดให้เซ้ง จะพิจารณาไปเรื่อยๆ หรือ กำหนดแผนจัดการไว้อย่างไร
ผมคิดว่าในช่วงยุคของ New normal ยุคนี้ไปแล้วจะไม่อนุญาตให้เซ้งเปลี่ยนมือแล้ว ยกเว้นเป็นในลักษณะโอนให้ทายาทโดยธรรม หรือ เป็นไปตามข้อกฎหมายกำหนด เนื่องจากเทศบาลเมืองแสนสุขต้องการลดจำนวนการถือครองใบอนุญาตประกอบกิจการเตียงผ้าใบชายหาดลงเรื่อย ๆ ซึ่งอนาคตหากใครถือใบอนุญาตอยู่แล้ว ลูกหลานไม่อยากทำต่อเพราะประกอบอาชีพอื่น ก็จะเป็นรูปแบบการยกเลิกใบอนุญาตไปเลย แล้วพื้นที่ชายหาดบางแสนก็จะมีพื้นที่โล่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราคิดไว้หลายแนวทาง โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ถือครองเลือกจะไม่ทำ เขาก็ไม่ควรจะเอาสิทธิ์ของทางราชการไปขายสิทธิ์ต่อให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ทายาท เพราะมันไม่แฟร์กับรัฐ กับเทศบาลฯ ในเมื่อเราเก็บสงวนอาชีพเหล่านี้ไว้ให้คนในพื้นที่โดยแท้ และต้องมาเหนื่อยดูแลบริหารจัดการพวกเขากับภาคการท่องเที่ยว จึงคิดว่าลดจำนวนลงน่าจะดีกว่า
ช่วงโอนเปลี่ยนสิทธิ์ ในช่วงที่เทศบาลฯ ดำเนินการ มีราคาอย่างไร
ถ้าไปเซ้งกันเองนอกรอบ ไม่แน่ใจ แต่การเปลี่ยนมือตามที่เทศบาลฯ กำหนดไว้ว่าแต่ละปีให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมือกันได้ จะกำหนดชัดเจนว่า ผู้ประกอบการที่อยู่ทำเลตรงไหน ประเภทอะไร แต่ละชนิดก็ไม่เท่ากัน เช่น รถไก่ย่าง ค่าโอนเป็นหลักหมื่นบาท แต่ถ้าเป็นเตียงผ้าใบ ค่าโอน เป็นหลักแสนบาท ซึ่งการเทศบาลฯ กำหนดราคาค่าโอนสูงไว้ถึงหลักหมื่นหรือหลักแสนบาท ก็เพื่อให้การโอนมันยากขึ้น เพราะถ้าตั้งราคาถูก ๆ ไว้ ก็จะเกิดปัญหาว่าใคร ๆ ก็จะโอนกันหมด และกำหนดชัดว่า ในช่วง 3-5 ปี จะไม่อนุญาตให้โอนกัน ผู้ประกอบการก็จะไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้เพราะอาจมีบางกรณีที่เขาไปเซ้งโอนเงินกันเอง แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนมือกัน เพราะทางเทศบาลฯยังไม่ประกาศ แต่ก็จะไม่รู้เลยว่าจะได้โอนเมื่อใด ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเข็ดจากการไปแอบเซ้งกันเอง แต่เทศบาลฯ ก็จะทำให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบ คือ ลงทะเบียนให้ถูกต้องและให้เป็นผู้ช่วยเจ้าของใบอนุญาต ให้มีรูป 2 คน เพื่อเวลาตรวจ จะได้เป็นไปตามระเบียบ
การนำพื้นที่ชายหาด สาธารณะไปจัดการหารายได้ ดำเนินการอย่างไร
ต้องใช้กฎหมายรองรับ แม้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่ก็ต้องดูแลพื้นที่สาธารณะ และต้องผ่านภายใต้กฎระเบียบที่ราชพัสดุ เหมือนถนนคนเดินทั่วประเทศ ก็ต้องมีกฎระเบียบเช่นกัน เพราะอยู่ ๆ เราเป็นนายกเทศมนตรี จะเอาพื้นที่สาธารณะไปให้เอกชนเช่าใช้ประโยชน์เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องมีการกำหนดค่าธรรมเนียม, การบริหารจัดการ และบางอย่างเทศบาลฯ ทำเองไม่ได้ ก็ต้องให้เอกชนดำเนินการ เหมือนตลาดนัดจตุจักร หรือ พื้นที่เช่าสยามสแควร์ เป็นต้น ซึ่งพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับชายหาดก็จะใช้รูปแบบการประมูล และมีคณะกรรมการจากส่วนกลางที่ จ.ชลบุรี ตั้งขึ้น มีกรรมการร่วมหลายคน เช่น การประมูลห้องน้ำชายหาดบางแสน ก็กำหนดการบริการจัดการรวมถึงอัตราค่าใช้บริการ หรือลานแหลมแท่น ก็จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว เผื่อไว้เป็นถนนคนเดิน หรือ การจัดลานดนตรีในบางครั้ง
ก่อนหน้านี้ บางแสนเคยเปิดพื้นที่ชายหาดแบบ 24 ชม. แล้วหลังจาก COVID-19 ไปหลังจากนี้ จะกลับมาเป็น 24 ชม.อีกหรือไม่
ไมมีครับ ตอนนี้เราจะลดเวลาประกอบกิจการด้วย เพราะอดีตการเปิดแบบ 24 ชั่วโมง เราพบปัญหาว่ามีพวกขี้เมา นอนชายหาดค้างคืน นำสุรา เหล้ามาดื่ม มานอนเตียงผ้าใบ ที่ผู้ประกอบการกางเตียงทิ้งข้ามคืนไว้ สร้างความสกปรกด้วยการทิ้งขยะไว้ตามชายหาด บางทีขยะตามแน;ชายหาดมันมีลม ส่งกลิ่นเหม็น หรือ ปลิวไปตามถนนก็ดูไม่ดี หรือ เช้ามานักท่องเที่ยวบางคนนอนเมาแบบน่าเกลียดมาก ไม่เหมาะสม มันดูไม่ดีต่อภาพลักษณ์ของบางแสน
ต่อไปนี้จะมีการกำหนดระยะเวลาการกางเตียงผ้าใบ เช่น ตอนนี้ COVID-19 แบบนี้อนุญาตให้ประกอบการได้ตั้งแต่ 06.00น. -18.00น.ในช่วงวันธรรมดา (อาทิตย์-พฤหัส) ส่วนวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ให้ประกอบกิจการได้ 06.00 น.จนถึง 20.00น. ส่วนทุกๆ วันจันทร์ กำหนดให้เป็นวันหยุดประกอบกิจการทุกประเภทบนชายหาด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ของบางแสน ที่ไม่เคยได้พักฟื้นชายหาดแบบนี้
ภาพรวมก่อนช่วง COVID-19 จนมาถึงช่วงหลัง COVID-19 ที่บางแสนกลับมาเปิดเต็มรูปแบบอีกครั้ง สิ่งที่จะทำให้ขับเคลื่อนบางแสนได้ต่อจากนี้ จะเน้นประเด็นใด
ก็คงเป็นการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องใหม่ที่ในอดีตนักท่องเที่ยวอาจไม่เคยเห็น การปิดพื้นที่ชายหาดบางแสนในช่วง COVID-19 เกือบ 3 เดือนเต็ม ที่ไม่มีการประกอบกิจการใด ๆ มันมีข้อดีที่ว่า ในอดีตพื้นที่ชายหาดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณแบบนี้อาจไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอาจมีผู้ประกอบการมาใช้พื้นที่มากกว่านักท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันทำให้เราคิดได้ว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องมาก่อน และสิทธิของประชาชน สิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งเทศบาลเมืองแสนสุข, อำเภอเมือง และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน ต้องแบ่งการบริหารจัดการด้วยการสร้างความสมดุลร่วมกัน ซึ่งบางแสนถือว่า เป็นเมืองท่องเที่ยวต้องมีการประกอบอาชีพภาคการท่องเที่ยว, การประกอบอาชีพของคนพื้นที่ และสิ่งสำคัญเพิ่มเติม คือการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ส่วนนี้เทศบาลเมืองแสนสุข จึงจัดระเบียบ และแบ่งพื้นที่ให้ 3 ฝ่าย อยู่ร่วมกันได้ คือ ประชาชนในพื้นที่ยังคงประกอบอาชีพได้, สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูดูแล และการท่องเที่ยวยังสามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่ได้ ตรงนี้เราพยายามจะทำเรื่องนี้อยู่ รวมถึงการจัดการปัญหาขยะซึ่งถือว่า เป็นเรื่องสำคัญของชายหาดบางแสน แม้มีสถานการณ์ COVID-19 แต่สถานการณ์นี้ทำให้เห็นว่า ขยะทะเล ไม่ได้ลดลง
ปัญหาขยะทะเลบางแสน มาจากไหน
ขยะมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง เราดูจากผลิตภัณฑ์ขนะที่พัดมากับน้ำก็จะรู้เลยว่า เป็นขยะมาจากบริเวณใด เช่น สมุทรปราการ, กรุงเทพฯ เป็นต้น มาจากประชาชนที่ยังไม่เลิกทิ้งขยะในครัวเรือน ลงพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะแม่น้ำ รวมถึงการเดินเรือยังทิ้งขยะทำให้ขยะทะเลที่พัดเข้าหาชายหาดบางแสนไม่ลดลง
รวมถึงขยะจากการทำประมง แต่ว่าขยะจากภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ปิดถนนปิดชายหาดบางแสน (ปลายมี.ค. - ต้น มิ.ย.63) ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีผู้ประกอบการชายหาด ทำให้ขยะที่เกิดจากภาคท่องเที่ยว ลดลงหายไป 30 - 40% ของปริมาณขยะในแต่ละวัน และก็ยังเป็นส่วนน้อยกว่าขยะที่มาจากทะเล โดยบางแสนไม่ใช่พื้นที่เดียวที่เจอผลกระทบปัญหาขยะจากทะเล แต่ใน จ.ชลบุรี ยังมีพื้นที่ ต.บางทราย, เทศบาลเมืองชลบุรี จนถึง ต.แสนสุข ต.บางพระ และ อ.ศรีราชา เจอปัญหาขยะทะเล เหมือนกัน
ปัญหาเหล่านี้ ทางเทศบาลเมืองแสนสุข รับทราบอยู่แล้ว และปัญหานี้ไม่ได้ลดลงทำให้ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราร่วมมือกับสถาบันการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อจะให้บางแสน เป็นต้นแบบ Zero Waste Beach แห่งแรกของประเทศไทยโดยได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันแล้ว โดย วช.ให้งบวิจัย ม.เกษตรฯในการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเก็บขยะให้ชายหาดบางแสน เนื่องจากชายหาดบางแสน มีปัญหาเรื่องขยะมาช้านานและเทศบาลเมืองแสนสุข
ที่ผ่านมาก็มีแผนบริหารจัดการขยะได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งทาง วช. และ ม.เกษตร ก็ต้องการร่วมงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีแผนงานเรื่องนี้อยู่ก่อนด้วยแล้วแต่ยังคงเกิดปัญหาขยะอยู่ จึงมาร่วมกันว่าปัญหาเหล่านี้ เทศบาลฯไม่ได้จัดการด้วยตัวเองได้ เพราะไม่ใช่ผู้ก่อให้เกิดปัญหาขยะทะเลทั้งหมด หน่วยงานเหล่านี้ก็จะมาช่วยวางแผนและแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ สำหรับขยะจากนักท่องเที่ยว หรือ เตียงผ้าใบชายหาด จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้นว่า อดีตจะมีถังขยะวางประจำโซนเตียงผ้าใบเป็นแนว แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนรูปแบบเป็นไม่ให้มีถังขยะตามแนวเตียงผ้าใบแต่จะไปวางอยู่ตามแนวเขตปลอดร่ม ปลอดเตียงผ้าใบแทนเพื่อลดปัญหากลิ่นขยะจากอาหารทะเลและกลิ่นขยะที่จะอบอวลตลอดตามแนวชายหาด
ส่วนผู้ประกอบการเตียงผ้าใบ จะต้องเป็นผู้จัดหาถังขยะมาประจำเตียงเอง ดูแลทำความสะอาดเอง และนำมาทิ้งในถังรวมที่ทางเทศบาลจัดไว้ให้และจะมีรถขยะวิ่งเก็บทุกชั่วโมง เพื่อลดปัญหาขยะหมักหมม เป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องบริหารจัดการ เรื่องปัญหาภาพรวมขยะทะเล ก็อยากให้ภาครัฐส่วนกลางเข้ามาช่วยเรา เพราะเกินอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมเจ้าท่าควรจะเข้มงวดเรือเดินสมุทร หน่วยงานอื่น ๆ จะช่วยทำอย่างไรในการควบคุมขยะจากต้นทางที่ลงสู่ทะเล
วางภาพของบางแสนในช่วง 10 ปีจากนี้ของนายกฯตุ้ย มองไว้อย่างไร
ทุกวันนี้ ที่ทำทุกอย่างเพราะเรารักบางแสน เรารักพื้นที่ ผมเป็นผู้บริหาร ต้องมองว่าบางแสน เป็นสมบัติชาติ ต้องกล้าทำบางอย่าง เช่นการลดพื้นที่เตียง หรือการจัดระเบียบต่าง ๆ ให้ทุกคนใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ การจัดระเบียบบางแสนของผม อาจมีคนที่ชอบและไม่ชอบ อยากให้เชื่อมั่นว่าไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ แอบแฝง อยากคงภาพของ บางแสนให้เป็นการท่องเที่ยวแบบโลคอล (Local) แบบนี้
ไม่ได้คาดหวังว่า บางแสนจะต้องสวยหรู แบบชายหาดไมอามี, มาลีบู หรือหาดทรายแถวฝรั่งเศส หรือสหรัฐอเมริกาไม่เคยคิด ถามว่าอยากให้ไปถึงแบบนั้นหรือไม่ ก็อยาก แต่ด้วยบริบทของผู้ประกอบการไทย นักท่องเที่ยวไทย ก็จะเป็นกลุ่มที่มีเสน่ห์แบบไทย ๆ แบบนี้ มีความเป็นท้องถิ่นที่มีเตียงผ้าใบ มีคนท้องถิ่นขายอาหาร ชาวต่างชาติน่าจะชอบแบบนี้นะ
บางแสนจะมีเสน่ห์ด้วยตัวเองไปแบบนี้ ก็อยากรักษาภาพแบบนี้ไว้ แต่ต้องจัดมาตรฐานยกระดับให้เป็นสากล เช่น อนาคตจะเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย มีเสาอัจริยะ, กล้องวงจรปิด, ประกาศเสียงตามสาย (มีแล้ว) , การติดตั้งค่าอากาศฝุ่นพิษ หรือ เครื่องวัดค่าสภาพน้ำทะเลให้อยู่ในมาตรฐานนานาชาติ ร้านค้าต่าง ๆ ไม่ต้องสวยหรูมากแต่ต้องให้องค์ความรู้ด้านบริการ เพื่อให้บางแสนยังมีความเป็นพื้นถิ่นไปแบบนี้ นี่คือเสน่ห์บางแสน บางแสนไม่ใช่ของผม แต่บางแสนเป็นของทุกๆ คน
เรื่อง/ภาพ ภัทราพร ตั๊นงาม