สมัยก่อนมาวิ่งเล่น ตรงท่าน้ำเป็นที่ฝึกว่ายน้ำของเด็กๆ วิถีชีวิตจะผูกพันกับท่าน้ำอาคารเขียว แต่ไม่ค่อยมีคนเข้าไปในอาคารเพราะเป็นพื้นที่ราชการ แม้ไม่ใช่พื้นที่หวงห้าม
นี่คือความทรงจำวัยเด็กของ "พัฒนา แสนเรียง" ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ ขณะที่ความทรงจำของอาคารอีกช่วง อาคารหลังนี้เคยเป็นโรงเรียนป่าไม้เปิดสอนมา 36 รุ่น มีคนจบการศึกษากว่า 6,000 คน
ส่วนในช่วงอุตสาหกรรมป่าไม้ เขาและคนในชุมชนเเพร่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างดีกับการทำไม้สักใน จ.แพร่
แล้วปล่อยให้รื้ออาคารเขียวได้อย่างไร?
ในช่วงก่อนจะมีการรื้ออาคาร ยอมรับว่าทราบแต่เพียงว่าจะมีการซ่อมแซม แต่เมื่อเห็นว่ารื้ออาคารทั้งหลัง มันกระทบกับจิตใจ เป็นสาเหตุต้องลุกขึ้นมาปกป้องอาคารหลังนี้
ในช่วงที่ลุกขึ้นมาปกป้องไม่เหลืออาคารแล้ว ภาคประชาชนมีการตั้งคำถามถึงกระบวนการรื้อซ่อมสร้าง หลายๆ คนที่มีความรู้เรื่องอาคารเก่า มองว่าการรื้ออาคารดังกล่าว อาจทำไม่ถูกต้องจนนำไปสู่การยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ว่าขั้นตอนการรื้อ-ซ่อม-สร้าง ใช้วิธีปฏิบัติถูกต้องหรือไม่
จุดเริ่มต้นร่วมกลุ่มภาคประชาชน
ตอนนั้นทุกคนรู้สึกสูญเสีย จนนำไปสู่การพูดคุยกันในภาคประชาชน ถึงการรื้ออาคารเก่ามากกว่า 100 ปี และคนในสังคมเกิดการตั้งคำถามต่างๆ มากมาย จึงเกิดการตั้ง "ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่" เพื่อค้นหาความจริงเรื่องนี้
ภาคีเครือข่ายฯได้มีการหารือกัน ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือการฟื้นฟูอาคารหลังเก่าให้กลับคืนมาเป็นตามขั้นตอนที่ถูกวิธี และการอนุรักษ์ รวมไปถึงการถอดองค์ความรู้จากเหตุการณ์รื้ออาคารเขียวให้เป็นบทเรียนกับสังคมและเป็นประโยชน์กับอนุรักษ์อาคารเก่าอื่นๆ
การสูญเสียอาคารแม้ทุกคนจะรู้สึกเสียดาย มีอารมณ์ร่วม แต่ต้องเดินต่อ ภาคีภาคประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมฟื้นฟูอย่างสร้างสรรค์ พร้อมติดตามการตรวจสอบการรื้ออาคารตามระบบขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา
ที่ผ่านมา อธิบดีกรมอุทยานฯ อธิบดีกรมศิลปากร เดินทางมาออกแบบร่วมกันภาคประชาชนในเมืองเเพร่ ด้วยท่าทีเป็นมิตรต่อกัน ถือว่าเป็นการฟื้นฟูที่สร้างสรรค์ และดึงภาคประชาชน ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม
การรื้ออาคารเขียว..แม้จะต้องรอฟื้นฟูอาคารกลับคืนมา แต่จิตวิญญาณของอาคาร ยังคงอยู่ เพราะทุกคนมีส่วนช่วยให้อาคารนี้มีชีวิตอีกครั้ง