วันนี้ (29 มิ.ย. 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่าย People Go Network รวมตัวยื่นหนังสือต่อคณะรัฐมนตรี และ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เรียกร้องให้ยกเลิกการต่ออายุการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทันที
สาระสำคัญในหนังสือระบุว่า รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 26 มี.ค. โดยอ้างเหตุว่า มีการระบาดของโควิด-19 จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน และได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้เรื่อย ๆ ไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. โดยมีท่าทีว่าจะขยายเวลาบังคับใช้ต่อไป
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามด้วยการออกข้อกำหนดและมาตรการต่าง ๆ ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน การประกอบอาชีพ และกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง โดยกำหนดโทษการไม่ปฏิบัติตามไว้อย่างสูง คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท เป็นโทษสถานเดียวเท่ากันหมดสำหรับทุกเรื่อง ซึ่งควรเป็นมาตรการที่ต้องใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสถานการณ์ที่ "เร่งด่วนจริง ๆ" เท่านั้น เมื่อความจำเป็นหมดลงก็ต้องยกเลิกมาตรการที่กระทบต่อ "การดำรงชีวิตโดยปกติสุข" โดยเร็วที่สุด
จากข้อมูลของ ศบค. พบว่า วันสุดท้ายที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ คือ วันที่ 26 พ.ค. ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่ 29 มิ.ย. ก็เท่ากับว่า เป็นเวลา 34 วันเต็มแล้วไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบ เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศทั้งสิ้น
ขณะที่คำแนะนำในการดูแลตัวเองสำหรับผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างก็ระบุตรงกันให้แยกตัวเองออกจากสังคมเป็นเวลา "14 วัน" ดังนั้น จึงนับได้ว่า ประเทศไทยปลอดจากการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว
แม้ยังมีการระบาดรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก และยังมีโอกาสที่ประเทศไทยจะกลับมาระบาดระลอกใหม่ได้ ดังนั้น มาตรการที่ยังจำเป็นต้องเข้มงวดในช่วงเวลานี้ คือ การกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและตรวจหาผู้ติดเชื้อที่ด่านพรมแดน ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 39-42 กำหนดไว้ละเอียดเพียงพอแล้ว
การใช้อำนาจรัฐออกคำสั่งเพื่อดำเนินการควบคุมโรค เช่น การตั้ง ศบค. ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 การสั่งปิดสถานบันเทิง การสั่งห้ามเดินทางข้ามพื้นที่ การสั่งห้ามรวมตัวในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 การสั่งห้ามกักตุนสินค้าจำเป็น เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งกฎหมายในระบบปกตินั้นให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมโรคระบาดไว้ได้อยู่แล้ว
ขณะที่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเวลากว่าสามเดือนที่ผ่านมา ให้อำนาจเพิ่มแก่รัฐบาล เช่น อำนาจสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว, การสั่งโอนอำนาจการสั่งการจากรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ มาเพื่อเป็นผู้สั่งการเองแทนทั้งหมด, ใช้ข้อห้ามรวมตัว แสดงความคิดเห็นของประชาชน และการยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า การคงไว้ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นประโยชน์กับรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ เท่านั้น และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ออกแบบเพื่อสร้างมาตรการรับมือกับโรคระบาด แต่เป็นกฎหมายที่เน้นเพิ่มอำนาจให้รัฐกรณีมี “ภัยคุกคามทางการทหาร” จึงควรออกแบบระบบกฎหมายใหม่สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจยังคงอยู่อีกระยะหนึ่ง โดยมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ชัดเจน
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หนึ่งในตัวแทนที่เดินทางยื่นหนังสือระบุว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อโครงการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากรในท้องถิ่น พร้อมยืนยันว่า ถ้า ครม. จะยังคงต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป เครือข่ายจะเดินทางมาคัดค้านอีก และอาจจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ด้วย
ประชาชนจำเป็นต้องใช้สิทธิเดินทางเพื่อไปยื่นหนังสือ แต่มักจะถูกห้ามเพราะบอกว่าประเทศอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โครงการกลับเดินหน้าไปเรื่อย ๆ แต่ประชาชนไม่สามารถไปยื่นหนังสือเพื่อบอกว่าโครงการมีปัญหาอย่างไร เป็นการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาค
ศบค. เคาะ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ล่าสุด ที่ประชุม ศบค. มีมติต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มี พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานเสนอ
นอกจากนี้ ศบค. ยังอนุมัติมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 5 หรือ คลายล็อกเฟส 5 ในกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอีกด้วย