ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โซเชียลกังขา บทเรียนตีตราให้ “เกี๊ยว” ใจแตก ?

สังคม
20 ก.ค. 63
17:11
4,480
Logo Thai PBS
โซเชียลกังขา บทเรียนตีตราให้ “เกี๊ยว” ใจแตก ?
เคยอ่านหนังสือแบบเรียนกันตอนนี้บ้างไหม? เด็กสาวนุ่งสั้น คบเด็กแว้น ท้องในวัยเรียน ถูกเรียกหาด้วยคำว่า "ใจแตก" โซเชียลมีเดียจึงได้หยิบยกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแบบเรียนภาษาพาทีที่มีการกล่าวถึงตัวละคร "เกี๊ยว" พร้อมกังขาว่าเหตุใดเกี๊ยวจึงถูกตีตราว่า "ใจแตก"

ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาด ส่งผลให้โรงเรียนต่างๆ เลื่อนเปิดเทอม พ่อแม่บางคนเริ่มเตรียมความพร้อมลูกก่อนไปโรงเรียน จนไปเปิดแบบเรียนของลูกอ่าน ส่งผลให้ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลายๆ คนอาจได้เห็นและอ่านเกี่ยวกับบทเรียน "เกี๊ยวใจแตก" ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทั้งทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กที่เพจคุณหมอเด็กไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างส่งต่อพร้อมแสดงความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ
เกี๊ยวใจแตก คืออะไร ?

"เกี๊ยว" คือ หนึ่งในตัวละครของบทเรียนบทที่ 14 เรื่อง เสียแล้วไม่กลับคืน อยู่ในหนังสือ "ภาษาพาที" หนังสือเรียนวิชาภาษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วน "ใจแตก" เป็นคำที่อธิบายความเป็นเกี๊ยวในหนังสือแบบเรียนเล่มนี้ จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ

...เกี๊ยวใจแตกมาตั้งแต่ยังไม่มีคำนำหน้าว่านางสาว ตามีไว้ดูโทรทัศน์ ปากมีไว้กิน และพูดเรื่องไร้สาระ หูมีไว้แนบกับโทรศัพท์ไม่เคยห่าง...


ตอนหนึ่งของเนื้อหาในบทเรียนนี้ ได้สร้างความตกใจให้กับผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง และกระตุกความรู้สึกการตีกรอบและตีตราของวัยรุ่นในสื่อสังคมออนไลน์

...หนักเข้าเกี๊ยวก็ไปร่วมกับแก๊งมอเตอร์ไซค์ที่ประพฤติตัวผิดกฎหมาย ปิดถนนแข่งรถโดยไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อนหรือไม่ที่สำคัญเกี๊ยวสนุกที่จะเอาตัวเองเป็นรางวัลชีวิต ซึ่งผู้ชายคนไหนก็ได้ที่ชนะเดิมพันจะเอาไปย่ำยี...

"...ป้านวลและลุงพจน์น้ำตาแทบเป็นสายเลือด เมื่อรู้ว่าลูกสาวสุดที่รัก ฉลองคำนำหน้าหน้าสาว ด้วยการตั้งท้องลูกไม่มีพ่อ..."
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วบทเรียนของเกี๊ยวต้องการจะสอนอะไร ในหนังสือภาษาพาที ได้ระบุไว้ว่า

บทเรียนนี้มุ่งสอนใจ ความเป็นไทยแดนสยาม
รักนวลสงวนงาม เลื่องลือนามน่าชื่นชม
การดู ฟัง อ่านข่าว โทรฯ บอกกล่าวตามเหมาะสม
แผนภูมิยอดนิยม รวมผสมเป็นความรู้


ตามชื่อบท "เสียแล้วไม่กลับคืน" บทเรียนนี้มุ่งเน้นสอนใจ เรื่องการรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่ามตามความเป็นไทย โดยการนำเสนอเรื่องราวให้น่าสนใจ มีตัวละคร เพื่อให้นักเรียนสนุกสนานเพลิดเพลิน ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน รู้จักใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ไพเราะสละสลวย และแทรกเนื้อหาความคิดที่บูรณาการ ความเข้าใจวถีความเป็นไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่พึงประสงค์ และรู้จักเท่าทันโลกตามวัย ประสบการณ์ และชั้นปี ซึ่งหลักการนี้ถูกระบุอยู่ในส่วนของคำแนะนำสำหรับครูเกี่ยวกับบทอ่านของหนังสือเล่มนี้
เกี๊ยวกับ 2 ชุดความคิดที่เข้ามาปะทะกัน

 
อโนพร เครือแตง เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก life skills thailand ก็ได้มีการจัดไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อร่วมกันแสดงมุมมองเกี่ยวกับ "เกี๊ยว" โดยอโนพร ระบุว่า เด็กประถมศึกษาปีที่ 6 ยังอยู่ในช่วงปฐมวัย ซึ่งสมองส่วนหน้ายังพัฒนาไม่เต็มที่ การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จะถูกเก็บเป็นข้อมูลชุดแรกและกลายเป็นภาพจำที่ฝังลึกเข้าไปจนอาจกลายเป็นสัญชาตญาณ 

เมื่อบทเรียนไม่ได้มีการกล่าวถึงปัญหาของเกี๊ยวโดยสมบูรณ์ ความทรงจำขาดๆ หายๆ เหล่านี้จะผิดเพี้ยนไป และกลายเป็นการตีตราจากชุดข้อมูลว่าผู้หญิงนุ้งสั้นต้องเป็นผู้หญิงไม่ดี


แม้วัตถุประสงค์ของบทเรียนอาจต้องการให้รู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ แต่อโนพร ยืนยันว่า คำศัพท์ใหม่ๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้เชิงลบ  รวมถึงชุดคำซึ่งเป็นการตีตรา เช่นเดียวกันกับวัตถุประสงค์ในการสอนเรื่องชิงสุกก่อนห่ามที่แบบเรียนไม่ได้สร้างความเข้าใจแต่เป็นการตัดสิน ไม่ได้สอนให้รู้จักอารมณ์ตัวเองว่าเมื่อพบปัญหาควรดำเนินการอย่างไร 

แบบเรียนควรบอกเรื่องที่ควรทำ คุณลักษณะ ข้อปฏิบัติ และเหตุผล ไม่ใช่เรื่องที่ห้ามทำ เพราะการห้ามไม่ได้อยู่ในสมองของเด็กที่กำลังเติบโต

สอดคล้องกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับบทเรียนเสียแล้วไม่กลับคืน ว่า บทเรียนนี้เป็นเหมือนผู้ใหญ่ที่หวังดี อยากให้เด็กผู้หญิงมีกรอบและมีชุดความคิดเรื่องรักนวลสงวนตัว อย่าชิงสุกก่อนห่าม โดยนำชุดความคิดเหล่านี้ถ่ายทอดผ่านหนังสือเรียนควบคู่ไปกับการนำปัญหาร่วมสมัยมาเสนอ โดยเฉพาะการย่างเข้าสู่วัยรุ่นจากเด็กประถมศึกษาไปสู่ชั้นมัธยมศึกษา โดยการยกกรณีเด็กแว้น-สกอยต์มาสอนผ่านการอ่านและการพูดคุย

อีกด้านหนึ่งกลุ่มเสรีนิยม ก็สามารถมองได้ว่าเรื่องราวในหนังสือเป็นตัวอย่างในการครอบงำและทำให้ผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลัง ผู้ชายเป็นใหญ่ มีอำนาจ ผู้หญิงต้องมีกรอบ และมีวิธีคิดที่เหมาะสม ทำให้เกิดประเด็นสิทธิสตรี ความเท่าเทียมกันทางเพศ หลักคิดเรื่องของเพศวิถี ดังนั้น สองชุดความคิดนี้มีการนำสื่อมาปะทะกัน

เราจะเห็นวิธีการแสดงความคิดโต้ตอบความเห็น ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งบางคนไม่มีสิทธิจะทำสิ่งเหล่านี้ในห้องเรียน

"เกี๊ยว" กับเรื่องราวที่ไม่มีพื้นที่ให้อธิบายเหตุผล?

ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า แม้เรื่องราวในบทเรียนนี้จะเป็นปัญหาร่วมสมัย และเป็นปัญหาสังคมที่หลายคนห่วง แต่กลับเป็นการจับเพียงปรากฏการณ์ทางสังคมมาเล่า ไม่ได้มีการลงไปหารายละเอียดและความลึกซึ้ง รวมถึงเหตุและปัจจัยของสิ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้น


นอกจากนี้ บทเรียนนี้มีการวิเคราะห์น้อย และด่วนสรุปเกินไปว่าต้องเป็นแบบนี้ ตามที่กลุ่มคนเขียนต้องการเป็นหลัก ซึ่งการทำหนังสือแบบเรียนต้องผ่านคณะกรรมการตรวจและอนุมัติก่อน แต่ลักษณะการตรวจและการอนุมัติ ชุดความคิดของผู้เขียนกับผู้ตรวจอนุมัติอาจจะไปในทิศทางเดียวกัน จึงทำให้ปรากฏชุดความคิดนี้ผ่านแบบเรียน

การใช้คำบางคำก็ไม่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ เพราะเป็นการใช้ภาษาและการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างซ้ำเติม และจะทำให้เด็กผู้หญิงระดับ ป.6 คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับวัยเขามากนัก

ส่วนภาพประกอบที่มีกรอบหรือการกุมมือนั้นเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง เหมือนการใช้อำนาจในการอบรมสั่งสอน ไม่ได้เปิดให้เด็กได้ปรึกษาหารือหรือแสดงความคิดเห็น ในทำนองเดียวกัน อาจต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับการสอนเด็กผู้ชายด้วย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกเพศ


ทั้งนี้ ครูในปัจจุบันต้องสอนหลักการสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมของเพศพร้อมเปิดกว้างให้ข้อมูลนักเรียน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้อภิปรายและแสดงความเห็นเพื่อร่วมกันสรุปบทเรียน นอกจากนี้ พ่อแม่ไม่ควรนำลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะเรื่องนี้เป็นการปัดความผิดให้เด็กผู้หญิง 2 คน ในเรื่องมากเกินไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถึงเวลาเปลี่ยน ไทยทอดทิ้ง "แบบเรียน" นานเกินไปหรือยัง?

“แบบเรียน” พื้นที่ช่วงชิงอำนาจสู่โอกาสส่งต่ออุดมการณ์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง