วานนี้ (27 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก เบส เสส โพสต์ภาพ ซูชิที่มีแสงสีฟ้าสะท้อนออกมาในตัวกุ้งในซูชิที่ซื้อมากิน พร้อมข้อความว่า “ซื้อซูชิมา ทำไมมันเรืองแสงอะครับ ใครรู้บอกทีไม่กล้ากินเลย” ทำให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย โดยชาวโซเชียลบางคนไปช่วยหาคำตอบ ว่ายังสามารถกินซูชินี้ได้อีกหรือไม่ ส่วนบางคนก็ไปหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เรืองแสงคืออะไร เช่น ผู้ใช้ Achiraya Jaranawat บอกว่าไปหาอ่านมา เหมือนกุ้งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับซูชิเรืองแสงผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เช้านี้มีหลายคนส่งรูปซูชิหน้ากุ้งดิบ ว่าไปเจอที่มันเรืองแสงได้เองในที่มืด (ไม่ได้ไปฉายแสงแบล็กไลต์ หรือแสงยูวี) อยากรู้ว่าเกิดจากอะไร?
เรื่องอย่างนี้ ควรส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบก่อน จะชัดเจนที่สุดนะครับว่าเกิดจากอะไร
คาดเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงในกุ้ง-แนะส่งตรวจสอบ
แต่ถ้าจะสันนิษฐานว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง ก็คงต้องเทียบเคียงกับที่เคยมีคนพบ "ลูกชิ้นปลาเรืองแสง" เมื่อก่อน ตอนปี 2553 ซึ่งกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เคยอธิบายไว้ว่า มีสาเหตุที่เป็นไปได้ 3 อย่างคือ
1. อาจเกิดจากการเจริญของเชื้อแบคทีเรียในทะเล กลุ่ม photobacterium phosphoreum ซึ่งสามารถผลิตสารเรืองแสงได้ (เช่น Pseudomonas sp., Pseudomonas fluorescens, Vibrio fischeri, Vibrio phosphoreum, Vibrio harveyi, Photobacterium luciferum) ติดมากับปลาที่ใช้ทำลูกชิ้น
แต่เชื้อพวกนี้จะถูกทำลายไปด้วยความร้อนระหว่างการผลิตลูกชิ้น ถ้าพบเยอะขนาดที่เรืองแสงบนลูกชิ้นได้ แสดงว่าอาจปนเปื้อนหลังผ่านความร้อนแล้ว และเก็บลูกชิ้นไว้ที่อุณหภูมิไม่ต่ำเพียงพอ (ควรต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส) ทำให้เชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น
2. ปลาที่เอามาทำลูกชิ้นนั้น อาจกินแพลงก์ตอนสาหร่ายกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต หรือเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ เช่น Vibrio harveyi ที่เรืองแสงในน้ำได้
3. อาจมีการเติมสารเคมีบางชนิด ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ เช่น วัตถุเจือปนอาหารประเภทฟอสเฟต ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้น และทำให้เกิดความนุ่มเหนียว รวมถึงสารฟอกขาว เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์
ถ้าประเมินจากแค่ 3 สาเหตุนี้ การที่ซูชิหน้ากุ้งดิบจะเรืองแสงได้ ก็น่าจะมาจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงที่กุ้ง มากกว่าเรื่องของใส่สารเคมี ซึ่งก็ต้องเอาไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ว่าเป็นเชื้อชนิดไหน มีอันตรายแค่ไหน รวมไปถึงที่มาว่ามีปัญหาในเรื่องสุขลักษณะในการผลิตและเก็บรักษาหรือไม่
คำแนะนำที่พอจะพูดได้คือ ถ้าพบลักษณะอาหารผิดปกติแบบนี้ ก็ไม่ควรนำมาบริโภค เพราะนอกจากเชื้อจุลินทรีย์เรืองแสงได้ ยังอาจมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดอื่นๆ ด้วย อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษได้